กสม.เตรียมยื่นหนังสือถึง นายกฯ-ปธ.สนช.สัปดาห์นี้ จี้แก้ร่างกฎหมายอีอีซี หลังพบขาดการมีส่วนร่วม กระทบสิทธิมนุษยชน ขัด รธน. เสนอแก้ 3 มาตรา ปมใช้ที่ ส.ป.ก.ทำประโยชน์อื่น ต้องทำเท่าที่จำเป็น ชดเชยอย่างเป็นธรรม ระบุหากเพิกเฉย แพร่ข้อมูลฟ้อง ปชช.
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 60 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม.มีมติเสนอให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เนื่องจากเห็นว่ายังมีปัญหาในเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน และเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขในสี่ประเด็น โดยสามประเด็นเป็นข้อเสนอที่จะส่งให้รัฐสภา และอีกหนึ่งประเด็นเสนอ ครม. ซึ่งจะทำหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ภายในสัปดาห์นี้
สำหรับข้อเสนอ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภาควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ทีได้รับผลกระทบ และผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายดังกล่าวในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการ และภาคประชาชน เสนอความเห็น ข้อกังวลเป็นรายมาตรา อย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน
2. รัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขมาตรา 36 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็น และต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้น จากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม
3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 มาตรา 43 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาต หรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น
...
และ 4. คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินการต้องไม่กระะทบต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ หลังปี 2558-2573
นายวัส กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็น และมีหนังสือสอบถามความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 7 ครั้ง แต่ช่องทางการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบตามกฎหมาย มีเพียงการรับฟังผ่านเว็บไซต์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระหว่างวันที่ 20 พ.ค.-5 มิ.ย. 60 มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นเพียงสี่คน ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายนี้จะต้องใช้ในพื้นที่สามจังหวัดที่มีประชาชน ซึ่งมีความหลากหลายอาชีพอาศัยอยู่จำนวนมาก การเปิดรับฟังความเห็นดังกล่าวจึงอาจไม่กว้างขวางเพียงพอ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 ดังนั้น เมื่อร่างกฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระสอง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากนำข้อเสนอแนะของ กสม.ไปพิจารณา จะทำให้เกิดความรอบคอบ เป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาของรัฐ สร้างความยั่งยืนปราศจากความขัดแย้งจากทุกภาคส่วน และไม่กระทบต่อกระบวนการออกกฎหมาย เพราะ สนช.มีมติให้มีการขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ออกไปอีกหกสิบวัน ทั้งนี้ หากทำข้อเสนอแนะไปแล้วไม่มีการปฏิบัติตาม กสม.ก็จะต้องนำข้อมูลออกมาเผยแพร่เพื่อฟ้องประชาชน