กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ยึดแนวทางประชารัฐ จัดตั้ง กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมธุรกิจ เอสเอ็มอี ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือน พ.ค. จนถึงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีการอนุมัติเงินกู้ผ่าน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME แบงก์ไปแล้วในวงเงิน 4 พันกว่าล้านบาท จำนวน 1 พันกว่าราย ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการส่งเสริม SME สตาร์ตอัพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มากยิ่งขึ้น จึงประกาศขยายเวลาในการยื่นขอสินเชื่อ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์จังหวัดต่อไป

และในโอกาสที่จะถึง เทศกาลปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่จากนโยบายประชารัฐ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี จะได้มอบคูปอง สำหรับการใช้บริการต่างๆ เช่น ปรึกษาแนะนำการใช้บริการศูนย์ทดสอบ การใช้บริการเครื่องจักรกลาง และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

ในปี 2561 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เน้นการออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs เบื้องต้นให้มีการตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และใช้โมเดล ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) เป็นต้นแบบในการยกระดับ โดยการเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้คำปรึกษา ใน ฐานะพี่เลี้ยง กว่า 20 บริษัท เช่น SCG ปตท. เด็นโซ่ เดลต้า โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ซึ่งล้วนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโดยเฉพาะ

ในส่วนหน่วยราชการเอง กสอ.จับมือกับ สสว. เตรียมสร้างกลไกเชื่อมโยงส่งเสริม เอสเอ็มอี เข้าสู่ ยุคดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์ม รูปแบบเว็บไซต์ T-Good Tech เชื่อมระหว่างผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี กับ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ล่าสุด กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประจำที่ประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงแพลตฟอร์มของไทย และในอนาคตจะเชื่อมเอสเอ็มอีไทยไปยัง ผู้ประกอบการญี่ปุ่น โดยตรง และเชื่อมไปยัง AEC อีกทางหนึ่งด้วย

...

แนวคิดของ นโยบายประชารัฐ เกี่ยวกับ เอสเอ็มอี ไม่ใช่แค่ให้เงินทุนสนับสนุนเท่านั้น แต่ยังจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้โตและแข็งแรงขึ้น จนสามารถที่จะยืนด้วยตัวเองได้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ พอไปถึงจุดหนึ่ง เอสเอ็มอีประสบกับปัญหาเรื่องของเทคโนโลยีและการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจนต้องปิดกิจการไปในที่สุด

นอกจากเงินทุน การสนับสนุนเรื่องของความรู้เทคโนโลยีแล้ว ยังจะส่งเสริมเรื่องของการตลาดที่ต้องการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ทำตลาดโดยตรง สร้างตลาดใหม่ๆ นับเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทย ที่จะเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศในอนาคต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th