“บิ๊กตู่” ปรามสื่ออย่าเดาโผ ครม.มั่ว อ้างบั่นทอนกำลังใจ รมต. กระทบภาพลักษณ์รัฐบาล กระแส “บิ๊กฉัตร” ยังแกว่งไม่รู้ไปไหนแน่ “สุวพันธุ์” เปรยไร้ปัญหาถ้าถูกปรับ “สมคิด” โยก “สุวิทย์” ไป ก.วิทย์ฯ ดันไทยแลนด์ 4.0 “อาคม” นั่ง คมนาคมที่เดิม “ออมสิน” ทำใจหลุดโผพร้อมกลับบ้าน พท.โวยรัฐบาลปิดปากสื่อ เปิดใจรับเสียงวิจารณ์บ้าง อย่าฟังแต่คำสอพลอ ปชป.จี้ คสช.ตอบให้ชัดเรื่องปลดล็อก “นิพิฏฐ์” บอกถึงเลือกตั้งก็ยังวุ่นไม่จบ ซัด มือร่างวางยาให้ยึดอำนาจอีก “สมชัย” ย้ำทุกพรรคต้องยึดคำตอบ กกต. จุดพลุเลือกตั้งท้องถิ่นมีสิทธิเลื่อนไปหลัง ส.ส. “เอนก” ลุยแผนปฏิรูปเชิญบิ๊กการเมืองให้ข้อมูลเพียบ
กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังคงอยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกมาพูดถึงความชัดเจนในกรณีดังกล่าว พร้อมกับปรามการนำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์โดยรวมของรัฐบาลได้
...
“บิ๊กตู่” ปรามสื่อเดาโผ ครม.มั่ว
เมื่อเวลา 10.50 น. วันที่ 18 พ.ย. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ติดตามการนำเสนอข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านสื่อแขนงต่างๆ โดยย้ำว่าเข้าใจการทำหน้าที่ของ สื่อ แต่ไม่อยากให้นำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์มาก เกินไป เพราะการรายงานข่าวและแสดงความคิดเห็นล้วนอยู่บนพื้นฐานการคาดเดา ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ และอาจบั่นทอนกำลังใจการทำงาน ไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวรัฐมนตรีและภาพลักษณ์รัฐบาลโดยรวม นายกฯยืนยันว่าการเลือกตัวบุคคลมาดำรงตำแหน่งใน ครม. พิจารณาด้วยตัวเอง ยึดหลักความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสม โดยเฉพาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอให้สื่อและประชาชนรอติดตามประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อ ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว นายกฯ จะเร่งรัดการทำงานด้วยความฉับไว รวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาประเทศที่รออยู่มาก
“สุวพันธุ์” เปรยไร้ปัญหาถูกปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการปรับ ครม. หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ระบุว่าเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการขั้นตอนต่อไปนั้น ในส่วนของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่นายกฯยืนยันว่าไม่มีการปรับออก แต่ไม่ได้ระบุว่าอยู่ตรงไหน ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังสับสน เพราะมีทั้งจะโยกไปนั่ง รมว.แรงงาน หรือให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และล่าสุดมีข่าวว่าอาจจะนั่งที่เดิมคือ รมว.เกษตรฯ ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม มีกระแสข่าวสะพัดจะถูกปรับเช่นเดียวกัน โดยมีชื่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน อาจโยกมาเป็น รมว.ยุติธรรมแทน โดยมีรายงานข่าวว่า นายสุวพันธุ์ได้เคยพูดกับข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมว่า “ไม่มีปัญหาอะไร หากใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทน”
โยก “สุวิทย์” ไปวิทย์ฯ “อาคม” ที่เดิม
สำหรับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบอำนาจให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นคนตัดสินใจ ล่าสุดในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสมคิดตัดสินใจให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โยกไปเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แทนนางอรรชกา สีบุญเรือง ที่จะหลุดจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ไป ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่กระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวมาตลอดจะมีการเปลี่ยนตัว รมว.คมนาคม ล่าสุดมีรายงานว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยังคงนั่งเก้าอี้เดิม รมว.คมนาคม
“ออมสิน” ทำใจพร้อมกลับบ้าน
ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในรัฐมนตรีที่มีชื่ออาจถูกปรับโยกย้าย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า จนถึงขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้แจ้งหรือส่งสัญญาณใดๆมาเลย นายกฯบอกให้รอความชัดเจนในเดือน ธ.ค. ก็อยากให้รอเมื่อถึงตอนนั้น เมื่อถามว่า มองโผ ครม.ที่ออกมาอย่างไรบ้าง นายออมสินตอบว่า ไม่ค่อยได้ดู ไม่ได้สนใจ และนายกฯไม่อยากให้รัฐมนตรีแต่ละคนไปเครียดอะไรมากเรื่องปรับ ครม. ให้ทำงานไปตามปกติเหมือนเดิม “สำหรับผมแล้วยังไงก็ได้ ถ้าให้อยู่ก็ทำงานไป ถ้าไม่ให้อยู่ก็กลับบ้าน ก็สบายดี ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆทั้งสิ้น ส่วนการประชุม ครม.วันที่ 21 พ.ย. ยังจะไปประชุมตามปกติ”
พท.โต้รัฐบาลอย่าคิดปิดปากสื่อ
ขณะที่ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดได้อย่างไรไม่อยากให้สื่อสนใจและวิจารณ์ข่าวการปรับ ครม. ในเมื่อการบริหารบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวก แต่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม และอยู่ในความสนใจของประชาชน แม้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งความหวังว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ จะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น แต่ประชาชนและสื่อมีสิทธิ์ทักท้วงและตรวจสอบการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะกล้าตัดพรรคพวก ที่ไร้ฝีมือและมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสออกจาก ครม. หรือไม่ อย่าดีแต่พูดว่ายึดหลักความรู้ความสามารถ เพราะทุกคนเห็นกันอยู่ว่าคงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ชาติ จึงแบะท่า ว่าไม่กล้าปรับรัฐมนตรีที่เป็นตัวปัญหาสำคัญออกไปพ้น ครม.ได้ คงเพราะเคยร่วมยึดอำนาจด้วยกันมา และยังต้องช่วยกันสืบทอดอำนาจต่อไปใช่ไหมเลยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ให้เปิดใจอย่าฟังแต่คำสอพลอ
ร.ท.หญิง สุณิสากล่าวอีกว่า ที่จริง พล.อ.ประยุทธ์ควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนบ้าง ควรศึกษาความต้องการของสังคมจากโพลที่น่าเชื่อถือและเป็นกลาง อย่าฟังแต่คำสอพลออย่างเดียว อย่างผล สำรวจโดยกรุงเทพโพล ระบุว่า ร้อยละ 63 เชื่อมั่นว่าหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นจะทำให้บรรยากาศการเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น นายกฯเห็นหรือไม่ ว่าประชาชนอยากเลือกตั้งแค่ไหน ควรรีบปลดล็อกทางการเมือง ให้เสรีภาพประชาชนทุกภาคส่วนตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้แล้ว
วอนการเมืองจับมือกันคลื่นแทรก
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ในการเลือกตัวแทนเข้าสภาฯเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง เห็นได้ชัดว่าการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ เพราะขาดความยึดโยงกับ ประชาชน วันนี้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องหันหน้าเข้าหากัน สร้างความปรองดองในหมู่นักการเมืองให้ได้ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็แข่งขันกันตามกติกาใครได้เสียงส่วนใหญ่ก็จัดตั้งรัฐบาล ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองต้องทำให้การเมืองเข้มแข็ง ไม่ให้ใคร เข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมาอีก เพื่อให้ผู้แทน ประชาชนใช้กลไกประชาธิปไตยขับเคลื่อนประเทศ แก้ปัญหาตรงกับความต้องการ ถ้าเรายังไม่ปรองดองกัน สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ และปัญหาเดิมๆที่การเมืองถูกอำนาจอื่นแทรกแซงจะกลับมาอีก
ปชป.จี้ คสช.ตอบมาให้ชัดๆ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำเนินการของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้มากว่า 40 วันแล้ว แต่ข้อกำหนดบางประการยังไม่สามารถดำเนินการได้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าพรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 141 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งรายชื่อ จำนวนสมาชิกที่เปลี่ยนแปลงไปจากบัญชีเดิม เพราะยังติดประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2557 ห้ามพรรค การเมืองดำเนินกิจกรรม ดังนั้น คสช.ต้องตอบให้ชัดเจนว่า จะให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร ยืนยันว่าไม่ได้เรียกร้องให้ปลดล็อก เพียงแต่ ขอทราบความชัดเจน ยังเชื่อว่าหาก คสช.ต้องการส่งต่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ควรเปิดโอกาสให้พรรคดำเนินการกิจกรรมการเมืองได้
“นิพิฏฐ์” ชี้เลือกตั้งแล้วยังวุ่นไม่จบ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงร่วมกับ กกต. ถึงวิธีการคิดคะแนน ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ว่า พูดไว้แต่ต้นแล้ว ระบบนี้ไม่ทำให้พรรคไหนได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง หรือชนะแบบถล่มทลายได้ การปัดเศษคะแนนแบบที่ผู้ร่างคิดขึ้นมาจะทำให้เกิดการคิดแบบศรีธนญชัย เชื่อว่ามีบางพรรคการเมืองคิดวิธีรับมือไว้ โดยจะแตกย่อยพรรคแม่พรรคลูก แยกกันเดินแยกกันตี แล้วไปรวมเสียงกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลัง ถ้าพรรคใหญ่บางพรรคกล้าทำแล้วเกิดผลที่ว่าจริง จะได้เสียงเกิน 250 เสียงแน่นอน เช่น อาจได้ 270 เสียง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพียงพรรคเดียว เพราะนายกฯต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 375 เสียง ปัญหาคือกลายเป็นว่าจะเกิดฝ่ายค้านที่มีเสียงมากกว่ารัฐบาล แบบนี้มันดูกลับตาลปัตร
มือร่างวางยาเสพติดยึดอำนาจ
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าพรรคใหญ่ไม่หวังเป็นนายกฯแล้ว เพราะไม่ว่าใครก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ แค่ไม่เกิน 3-4 เดือน หลังรัฐบาลใหม่เข้ามา เสนอกฎหมายงบประมาณเข้าสภาจะถูกฝ่ายค้านที่มีเสียงมากกว่าคว่ำกฎหมาย ถ้ากฎหมายงบฯถูกคว่ำรัฐบาลต้องยุบสภา หรือลาออก ปัญหาหลังเลือกตั้งจึงไม่ใช่การหานายกฯไม่ได้ แต่คือรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มีเสถียรภาพ ต่างชาติไม่เชื่อมั่น ไม่มีใครลงทุนคบค้าด้วย ตามที่เคยฟันธงไว้ว่าอาจต้องมีการยึด อำนาจอีก เพราะไปต่อไม่ได้ ต้องโทษคนออกแบบกฎหมายแบบนี้ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ ปัจจัยอีกอย่างที่จะทำให้เกิดวิกฤติ คือ ส.ว. 250 คน ที่ คสช.แต่งตั้ง จะยอมเลือกรายชื่อนายกฯที่ถูกเสนอชื่อรอบแรกจาก ส.ส.ไหม ถ้าไม่เลือกก็แสดงว่า ส.ว.จะไปเลือกคนที่มาจากเสียงข้างน้อยในสภา ถ้าไม่เลือกก็เกิดวิกฤติอยู่แล้ว จากนั้นความชอบธรรมของการยึดอำนาจจะมี คนก็จะรังเกียจนักการเมืองอีก ทะเลาะกันอีกแล้วหรือ นักการเมืองเป็นตัวปัญหาทำให้เกิดการยึดอำนาจอีก แต่หารู้ไม่ว่าคนวางระบบวางกับดักไว้อย่างนี้
“องอาจ” มองโลกสวยเชื่อใจ คสช.
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นักการเมือง และพรรคการเมือง ต้องศึกษาระบบการคิดคะแนน ระบบจัดสรรปันส่วนผสมให้ถ่องแท้ เพื่อวางแผนการเลือกตั้ง ส่วนประชาชนอาจสับสนบ้าง แต่ไม่น่ามีผลกระทบมาก ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าระบบคิดคะแนน ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม จะไปเอื้อพรรคไหนอย่างไรนั้น ขอให้ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยประชาชนในการลงคะแนนเสียงเป็นหลักมากกว่า เป็นไปได้ว่าประชาชนอาจลงคะแนนให้พรรคใหญ่อย่างท่วมท้นก็ได้ อย่าเพิ่งคาดเดาไปก่อน ส่วนกรณีที่ กกต.ตอบกลับพรรคการเมือง ไม่สามารถทำกิจกรรมได้เพราะติดคำสั่ง คสช.ว่า อยากให้ คสช.พิจารณาคำชี้แจงดังกล่าวของ กกต. จะเห็นได้ว่าคำสั่ง คสช.ยังเป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย คำตอบของ กกต.ชัดเจนแล้ว จึงยังมีความเชื่อมั่นว่า คสช.และนายกฯเข้าใจปัญหา ต้องหาทางคลี่คลายเพื่อให้พรรคการเมืองทำงานได้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ถ้ามีความจำเป็นเราคงอาศัยช่องทางนี้ ต้องดูระเบียบของ กกต.ว่าจะออกมาอย่างไรในเรื่องนี้
ย้ำพรรคต้องยึดตามคำตอบ กกต.
วันเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ตอบข้อหารือของพรรคการเมือง โดยยืนยันว่าการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 141 ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะเข้าข่ายการดำเนินกิจการทางการเมือง ว่า ต้องยึดคำตอบที่เป็นทางการจากนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นหลัก เมื่อนายทะเบียนฯให้คำตอบแบบนี้ก็เท่ากับว่าไม่สามารถทำได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย กกต.ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย คือเมื่อครบเวลา 90 วันแล้ว พรรคการเมืองใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิก หรือยื่นเรื่องขอขยายเวลา กกต.ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้พรรคนั้นสิ้นสภาพไป หากจะแก้ไขกฎหมายต้องแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 5 ม.ค.2561 ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก หากจะแก้ไขกฎหมายก็อยากให้ กรธ.เป็นฝ่ายเสนอรัฐบาลเอง เพราะจะรอบคอบและรู้รายละเอียดมากกว่า กกต. แต่ถ้าไม่แก้ไข กกต.ต้องทำตามกฎหมาย
จุดพลุเลือกตั้งท้องถิ่นอาจหลัง ส.ส.
นายสมชัยกล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอาจต้องแก้ไขกฎหมาย 6 ฉบับ ก่อนมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ถ้าเป็นเช่นนี้คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้ เพราะคาดการณ์โดยดูจากคิวการพิจารณากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในปลายเดือน พ.ย.นี้ ดูตามขั้นตอนเท่ากับว่าอาจต้องเสนอกฎหมายท้องถิ่นประมาณต้นปี 2561 ดูตามคิวแล้วเสร็จหลัง 2 ฉบับดังกล่าวแน่นอน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าด้วยเหตุของข้อจำกัดในการแก้ไขกฎหมาย การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ขึ้นอยู่กับ สนช. จะพิจารณาได้เร็วหรือไม่ ถ้าพิจารณาได้เร็วก็อาจดำเนินการได้ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนความคืบหน้าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ในประเด็นอำนาจการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติอนาคต กกต.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนได้ภายในเดือน พ.ย.
กกต.ต้องอธิบายวิธีคำนวณ ส.ส.
ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวถึงวิธีการคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า เป็นการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นวิธีการใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ที่ผ่านมาการเลือก ส.ส.เลือกในลักษณะชอบคนก็เลือกคน ชอบพรรคก็เลือกพรรค แต่คราวหน้าเปลี่ยนวิธีการเลือก ส.ส. โดยเอาคะแนนที่ประชาชนเลือกมารวมกัน แล้วนำมาหารเพื่อคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้ เมื่อถามว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจยากหรือไม่ นายพีระศักดิ์ตอบว่า การคำนวณ ส.ส.เป็นเรื่องของ กกต. แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบว่าคะแนนที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งนั้น จะนำไปคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.กี่คน เพราะ กรธ.ต้องการให้ทุกคะแนนของประชาชนมีความหมาย
“เอนก” ลุยแผนปฏิรูปการเมือง
อีกเรื่อง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปด้านการเมือง และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดทำแผนร่างแรกเสร็จแล้ว โดยกำหนดประเด็นในการปฏิบัติไว้ 5 เรื่องสำคัญ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเกิดผลสัมฤทธิ์ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 257 และมาตรา 258 คือ 1.การเลือกที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ 2.การสร้างธรรมาธิปไตย 3.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 4.กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี และการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย และ 5.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม
บิ๊กการเมืองตอบรับให้ข้อมูล
นายเอนกกล่าวต่อว่า ระหว่างวันที่ 20-30 พ.ย. คณะกรรมการฯ ได้เชิญนักการเมืองระดับประเทศ ที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการจัดแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง นำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองให้สมบูรณ์ต่อไป มีนักการเมืองที่ตอบรับคำเชิญแล้ว อาทิ วันที่ 20 พ.ย. นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาประธานพรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 21 พ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำพรรคภูมิใจไทย วันที่ 22 พ.ย. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา และวันเดียวกันแต่คนละเวลา เป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวันที่ 28 พ.ย. เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย
ขอนายกฯเปิดใจฟังชาวสวนยาง
นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่าออกมาเดิน ขบวนประท้วง เพราะเกรงจะถูกหยิบมาเป็นประเด็นการเมืองว่า เชื่อว่านายกฯแยกแยะได้ว่าเรื่องใดเป็นประเด็นการเมือง เรื่องใดเป็นความเดือดร้อนประชาชน ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เคยส่งอดีต ส.ส. ไปยื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงขอให้นายกฯเปิดใจรับฟังปัญหาของชาวสวนยาง หากไม่เดือดร้อนจริงเขาคงไม่ออกมา และไม่ควรจับแกนนำชาวสวนยางไปกักในค่ายทหารแบบที่ผ่านมาอีก
ยกระดับเกษตรกรยุคดิจิทัล
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้พัฒนาการเกษตร โดยจัดทำเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์ได้สะดวก และรวดเร็ว เช่น เว็บไซต์ตลาดออนไลน์ www.dgtfarm.com รวบรวมสินค้าเกษตรให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้โดยตรง แอพพลิเคชั่นกระดานเศรษฐี 4.0 ช่วยให้เกษตรกรฝึกคำนวณต้นทุนการผลิตด้วยตนเอง แอพพลิเคชั่นจองรถเกี่ยว หรือแอพพลิเคชั่นชาวนาไทย ที่รวบรวมข้อมูลมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นต้น สามารถติดต่อใช้บริการที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์ดิจิทัลชุมชน นายกฯยังย้ำว่าวันนี้บ้านเมืองต้องการความเปลี่ยนแปลง จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการปรับวิธีคิดและเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งหน่วยราชการ นักกฎหมาย พรรคการเมือง สื่อ และภาคประชาชน ไม่ได้มีเจตนาดูถูกอ้างความดีของ คสช. หรือหวังผลทางการเมือง