กรธ.-กกต.แจงวิธีคำนวณหา ส.ส.แจงหากได้ ส.ส.เขตเต็มโควตาอดปาร์ตี้ลิสต์ยอมรับโอกาส รบ.เดี่ยวเกิดขึ้นยาก เลือกซ่อมเกิน 1 ปีไม่คำนวณคะแนนใหม่
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.60 ที่รัฐสภา นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) พร้อมด้วย นางสมิหรา เหล็กพรหม รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ และ นางสาวสง่า ทาทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในส่วนของหลักการคำนวณวิธีคิดค่าเฉลี่ยของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
โดย นางสมิหรา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดมี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น แบบเขตเลือกตั้ง 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว สำหรับหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมีด้วยกันสองรูปแบบแล้วแต่กรณี ได้แก่ 1.กรณี กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครบ 350 เขต และ 2.กรณี กกต.ประกาศผลไม่น้อยกว่า 95 %
นางสมิหรา กล่าวต่อว่า กรณี กกต.ประกาศผลครบ 350 เขต จะมีวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง คือ นำคะแนนเฉพาะของพรรคที่ส่งแบบบัญชีรายชื่อเท่านั้นมาใช้ในการคำนวณ พรรคใดที่ไม่ส่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจะไม่นำมาคำนวน และนำผลรวมคะแนนของทุกพรรคการเมืองมาหารด้วย 500 เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยนต่อ ส.ส.1 คน แล้วหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี โดยนำค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1คน ไปหารคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้
ทั้งนี้ หากพรรคใดได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมีได้ ให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติมให้ตามที่ยังขาดอยู่ แต่หากพรรคการเมืองได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมากกว่า หรือเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ ไม่ต้องจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองนั้น กรณีที่มีจำนวน ส.ส.แบ่งเขตมากกว่าจำนวนที่พึงมีได้ หรือโอเวอร์แฮงค์ เช่น พรรค ค.ได้ ส.ส.ที่พึงมี 4 คน แต่ได้ ส.ส.ระบบแบ่งเขต 5 คน มีโอเวอร์แฮงค์ 1 คน ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเมื่อได้ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่าไหรก็ได้เท่านั้น แต่จะไม่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ สำหรับเศษเกินที่นำออกมานั้นจะนำมาจัดลำดับเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองเพื่อหาคำนวณหาจำนวน ส.ส.ต่อไป
...
ขณะที่ กรณี กกต.ประกาศผลไม่น้อยกว่า 95 % นางสมิหรา กล่าวว่า เป็นกรณีที่ยังไม่สามาถประกาศผลการเลือกตั้งได้ทั้งหมด รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องประกาศให้ได้ 95% จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน คือ 475 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 333 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 142 คน ถึงจะสามารถเปิดประชุมสภาได้ ทั้งนี้วิธีการคำนวณจะเหมือนกรณีปกติ แต่จะคิดจากฐานของการรับรองผลการเลือกตั้งที่ 95% เช่น คะแนนของทุกพรรคการเมืองทั้่งประเทศที่ 95% มีจำนวน 28,090,848 คะแนน จะนำคะแนนนี้มาหาร 475 จากนั้นจะได้ตัวเลข 59,138.6274 ซึ่งคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน จากนั้นเป็นการหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมี
เมื่อถามว่า การคำนวณคะแนนการเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส.เกิน 50% หรือมากกว่า 250 คนใช่หรือไม่ นางสาวสง่า กล่าวว่า คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะการนำคะแนนของ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 1.8 แสนคน ดังนั้นการที่จะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนโดดไปถึง 250 ที่นั่งก็คงเป็นเรื่องที่ยาก
เมื่อถามว่า หากเกิดกรณีที่มี ส.ส.โดนใบแดงและต้องมีการเลือกตั้งซ่อม จะคำนวณคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า เมื่อพ้น 1 ปีหลังจากการเลือกตั้งไปแล้วจะไม่มีการคำนวณคะแนนเพื่อคิดจำนวน ส.ส.ใหม่แม้จะมีการเลือกตั้งซ่อม
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีที่จะทำให้เกิดการคำนวณ ส.ส.ใหม่นั้น จะมีเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมที่มีสาเหตุจากการทุจริตเลือกตั้งเท่านั้น หากเป็นการเลือกตั้งซ่อมเพราะ ส.ส.คนเดิมตายหรือลาออก จะไม่มีนำคะแนนมาหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าก่อน 1 ปี เกิดมีเลือกตั้งซ่อมต้องคำนวณคะแนนใหม่ ใครอยู่อันดับท้ายของพรรคที่ต้องเสียก็ต้องหลุดจากตำแหน่งของ ส.ส.ใครที่อยู่ในพรรคที่ได้จำนวนที่นั่งเพิ่มก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.และ ส.ส.ที่ต้องออกจากตำแหน่งเพราะกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญกำหนดว่าสิทธิที่ได้มาก่อนที่จะพ้นตำแหน่งจะไม่ได้รับผลกระทบ เช่น เงินเดือนที่ได้มาก่อนก็ไม่ต้องมาคืน สิ่งที่ทำไปก็ชอบด้วยกฎหมาย