"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ ปชช.หนุนปรับ ครม. "เกษตรฯ" เต็งหนึ่งถูกปรับมากที่สุด พณ.อันดับ 2 "คลัง" อันดับ 3 ขอรัฐเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง อันดับแรกๆ

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 60 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "การปรับ ครม. ประยุทธ์ 5" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-9 พ.ย. 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยน ครม.ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปลายปี 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.11 ระบุว่า เห็นด้วยเพราะ ครม.ชุดปัจจุบันยังทำงาน และแก้ไขปัญหาได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ประชาชนอยากเห็นคนใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับตำแหน่งเข้ามาทำงาน มีวิสัยทัศน์ หรือนโยบายใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารประเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 16.71 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาของประเทศ หากมีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้งจะทำให้หลายๆ นโยบายหรือโครงการต่างๆ ไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย และความขัดแย้งในบ้านเมือง บางส่วนระบุว่า ครม.ชุดนี้ทำงานได้ดีอยู่แล้ว 

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกระทรวงที่ต้องการ ให้มีการสลับสับเปลี่ยนการทำงานของ ครม.ตามลำดับ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 20.38 ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองลงมา ร้อยละ 16.07 ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 7.27 ระบุว่า กระทรวงการคลัง ร้อยละ 6.08 ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 5.60 ระบุว่า ไม่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยน ครม. นอกจากนี้ ร้อยละ 5.20 ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 4.40 ระบุว่า กระทรวงแรงงาน ร้อยละ 3.44 ระบุว่า กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 2.32 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 2.08 ระบุว่า กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 2.00 ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 1.84 ระบุว่า กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.20 ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 0.96 ระบุว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 0.08 ระบุว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 2.40 ระบุอื่นๆ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการให้สลับสับเปลี่ยนการทำงานของ ครม.ทั้งหมด 

...

เมื่อถามถึงเรื่องที่ประชาชนอยากพัฒนา หรือแก้ไขในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ปลายปี 2561 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.28 ระบุว่า ด้านเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 31.12 ระบุว่า สวัสดิการของประชาชน ความเป็นอยู่ของประชาชน ร้อยละ 30.24 ระบุว่า ด้านการเกษตร ร้อยละ 15.28 ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 13.76 ระบุว่า ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 12.08 ระบุว่า ด้านระบบการศึกษา ร้อยละ 8.24 ระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ร้อยละ 7.68 ระบุว่า การปฏิรูปประเทศ การแก้ไขกฎหมาย ร้อยละ 3.20 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ ด้านการคมนาคม การจราจร การท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข การแพทย์ ด้านศาสนา และปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 2.64 ระบุว่า ไม่มีปัญหาใดที่ต้องแก้ไข.