"บิ๊กบี้" ยอมหักไม่ยอมงอ ยกทีมลาออก รมว.แรงงาน ด้าน อธิบดี กกจ. มึนตึ้บ ไม่รู้เหตุ โดน ม.44 เด้งไปเป็นรองปลัดแรงงาน ยันทำงานหนักไม่เคยใส่เกียร์ถอย ปลอบใจตัวเองเจ้านายคงอยากให้พัก..

เวลา 14.40 น. วันที่ 1 พ.ย. ที่ห้องอธิบดีกรมการจัดหางาน ชั้น 9 นายวรานนท์ ปีติวรรณ อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลัง หัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้ย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า ไม่รู้เหตุผลที่แท้จริง แต่เข้าใจว่าผู้บังคับบัญชาคงเห็นว่าเหนื่อยจากการทำงาน เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงอยากให้พัก และไปทำงานดูภาพรวมในตำแหน่งรองปลัดมากกว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงานช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวไม่ล่าช้าเหมือนที่คนวิพากษ์วิจารณ์ เห็นได้จากการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมาตัวเลขดำเนินการเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ยอดใบจับคู่ 4 แสนคน ดำเนินการไปแล้ว 1.6 แสนคน จึงมั่นใจว่ายอดที่เหลือจะเสร็จทันเวลาใน 2 เดือน ที่จะครบกำหนด ชะลอโทษ 180 วัน ส่วนแรงงานกัมพูชา ยอดการพิสูจน์สัญชาติเริ่มกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมวันละไม่เกิน 200 คน ขยับเป็นวันละ 1,400 คน จะเห็นได้ว่าการทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับความร่วมมือ ส่วนบางเรื่องที่อาจล่าช้าเป็นปัญหาของประเทศต้นทาง ไม่ใช่ของไทย 

...

"คำสั่งมีผลทันที 1 พ.ย. แต่ผมรู้สึกเฉยๆ กับการโยกย้าย มีแต่สื่อที่ตกใจ เป็นเรื่องปกติของราชการ และผมคงไม่ต้องฝากอธิบดีคนใหม่สานต่องานอะไรเป็นพิเศษ เพราะ รมว.แรงงาน เน้นการทำงานเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายชัดเจน จากนี้ไปผมคงจะได้พักบ้าง เพราะการทำงานในตำแหน่งอธิบดี กกจ.เป็นงานหนัก ทุกวันนี้ต้องกินยาเป็นกำๆ ไม่ให้ความดันโลหิตสูงกำเริบ นายจึงอาจอยากให้พักผ่อน เพราะเรื่องอื่นผมไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีเรื่องใต้โต๊ะ ผมตรงไปตรงมา ทำงานเหยียบคันเร่งไม่มีปล่อย คุณก็รู้ว่าผมทำงานยังไง จริงๆ เรื่องนี้ผมก็รู้มาบ้าง แต่มันต้องด่วนขนาดใช้ ม.44 เลยหรือ" นายวรานนท์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายวรานนท์จะให้สัมภาษณ์ ได้นั่งเปิดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาดูคำสั่งหัวหน้า คสช. หลังจากมีผู้โทรศัพท์มาแจ้งข่าว โดยตลอดเวลาที่นั่งอ่านคำสั่ง จะทำสีหน้างงๆ ที่โดนคำสั่งฟ้าผ่า โยกย้ายด่วน และในขณะที่ นายวรานนท์ กำลังให้สัมภาษณ์สื่ออยู่นั้น ปรากฏว่า นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดี กกจ. ได้เดินปรี่เข้ามาในห้องด้วยตาแดงก่ำ พูดให้กำลังใจ นายวรานนท์ ด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้นว่า ผมเสียใจ ผมยังเคารพนายเหมือนเดิม นายเป็นคนดีมาก ทำให้ นายวรานนท์ ที่กำลังพูดคุยด้วยรอยยิ้มตามสไตล์โผงผาง ตรงไปตรงมา ถึงกับสีหน้าซึมลง พร้อมบอกว่ามาร้องห่มร้องไห้ ทำให้ผมเศร้าไปด้วย หลังจากนั้นได้มีข้าราชการพากันทยอยเข้ามาให้กำลังใจ 

รายงานข่าวแจ้งว่า ตลอด 8 เดือนที่รับตำแหน่งอธิบดี กกจ. นายวรานนท์ มีบุคลิกตรงไปตรงมา พูดจาสไตล์ปะฉะดะ โผงผาง บางครั้งมีการหลุดปากต่อว่าลูกน้องด้วยคำพูดแรงไปบ้าง เพราะอยากให้งานเดินหน้า แต่การทำงานด้วยสไตล์เชื่อมั่นตัวเองเกินไป ประกอบกับได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ทำให้ไม่เป็นที่ถูกใจของข้าราชการบางส่วน ซึ่งการถูกคำสั่ง ม.44 ในครั้งนี้ นายวรานนท์ ไม่รู้ตัว และเชื่อว่า รมว.แรงงาน ก็ไม่รู้มาก่อน จึงไม่มีการสะกิดบอกล่วงหน้า และเป็นที่น่าสังเกตว่าการทำงานในกระทรวงแรงงาน ล้วนมีแรงกระแทกมาจากภายนอก ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่ง นายจรินทร์ จักกะพาก อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนนอกมาเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เสียบแทน นายสุเมธ มโหสถ อดีตอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ พล.อ.ศิริชัย เสนอแต่งตั้ง ล่าสุด นายวรานนท์ ซึ่งเป็นคนที่ พล.อ.ศิริชัย สนับสนุน และให้ความไว้วางใจ ก็มาถูกโยกสลับตำแหน่งกับ นายอนุรักษ์ ซึ่งในอดีตเคยเติบโตมากับการเป็นหน้าห้องข้าราชการระดับสูงในกลุ่มเดียวกับนายจรินทร์ สมัยที่ยังอยู่กระทรวงแรงงาน เมื่อ 20 ปีก่อน

ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงแรงงาน ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวใกล้ชิด พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ว่า หลังหัวหน้า คสช. ใช้ มาตรา 44 โยกย้ายอธิบดีกรมการจัดหางาน พล.อ.ศิริชัย และทีมข้าราชการการเมือง ประกอบด้วย พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน, นายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน และ พล.ท.ธนิต พิพิธวนิชการ เลขานุการ รมว.แรงงาน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งทุกคน โดยบรรยากาศที่กระทรวงแรงงานช่วงเย็นเป็นไปอย่างเงียบเหงา และมีทีมงานของ พล.อ.ศิริชัย และ พล.อ.เจริญ รวม 4 คน เข้ามาขนของใช้ส่วนตัว อาทิ เสื้อผ้าจำนวนหลายสิบชุด พระเครื่อง ลงจากห้องทำงานชั้น 6 มาขึ้นรถตู้ จากการสอบถามบอกว่าเข้ามาเก็บของให้ พล.อ.ศิริชัย และ พล.อ.เจริญ 

ต่อมา เวลา 16.40 น. ได้มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ของ พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน ออกมาปลิวว่อนในกระทรวงแรงงาน โดยหนังสือเลขที่ รง 0102.1 / 2202 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2560 ที่กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง เรื่องขอลาออกจากตำแหน่ง มีใจความว่า กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ตามที่กระผม พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานนั้น กระผมมีความประสงค์จะขอลาออกจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 จึงเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณา ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ทั้งนี้ พล.อ.เจริญ ถือว่าเป็นมือขวาของ พล.อ.ศิริชัย และเป็นเพื่อนนายทหารที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่ครองยศร้อยเอก เข้ามาเป็นผู้ช่วย รมว.แรงงาน เป็นระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน