"สามารถ" โพสต์เฟซบุ๊ก หยัน กทม. "อนิจจา! กรุงเทพฯ จมน้ำ เพราะงูเขียวตัวเดียว" ต้นเหตุทำไฟช็อตสถานีสูบน้ำช่องลม ทำให้สูบระบายน้ำออกจากดินแดง วิภาวดี ไม่ได้ เหน็บเจ็บ แนะตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำ พ่วงหาวิธีป้องกันงูพันสายไฟด้วย พร้อมยกข้อพิรุธ ยันเหตุผลสวน กทม. ไม่ได้เดินเครื่องสูบน้ำและพร่องน้ำ...
เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 21 ต.ค.60 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "อนิจจา! กรุงเทพฯ จมน้ำเพราะงูเขียวตัวเดียว" ใจความว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.60 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง "ถ้าเป็นแบบนี้...ยังไงก็ท่วม" มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตามที่มีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในหลายพื้นที่เมื่อเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 14 ต.ค. โดยในบางพื้นที่มีน้ำท่วมต่อเนื่องมาจนถึงตอนเย็นของวันเดียวกันนั้น ไม่ได้เป็นเพราะมีปริมาณฝนต่อชั่วโมงสูง เพราะเมื่อผมได้ตรวจสอบข้อมูลปริมาณฝนต่อชั่วโมงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วพบว่า มีปริมาณฝนต่อชั่วโมงต่ำกว่า 60 มม. ซึ่งเป็นปริมาณที่ระบบท่อระบายน้ำของ กทม. มีขีดความสามารถรองรับได้เกือบทุกชั่วโมง ยกเว้นช่วงระหว่างเวลา 02.00-03.00 น. ของเช้าวันที่ 14 ต.ค. เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น ที่บางพื้นที่มีปริมาณฝนต่อชั่วโมงเกิน 60 มม. เช่น บริเวณดินแดง เป็นต้น โดยผมได้ตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมไว้ว่า (1) อาจเป็นเพราะเครื่องสูบน้ำที่บางสถานีสูบน้ำเสีย หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องไม่อยู่ และ (2) อาจเป็นเพราะ กทม.ไม่ได้พร่องน้ำก่อนฝนตก
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ชี้แจงข้อสังเกตของผมซึ่งสรุปได้ดังนี้ 1. ในพื้นที่เขตดินแดงมีฝนตกต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 00.20 น. จนถึง 04.25 น. มีปริมาณฝนสะสมรวมกันเป็น 174 มม. ซึ่งระบบท่อของ กทม.สามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมในเวลา 3 ชั่วโมง ได้ไม่เกิน 80 มม. แต่ในขณะนั้นในช่วง 3 ชั่วโมง มีปริมาณฝนสะสมรวมสูง 135 มม. จึงทำให้ต้องใช้เวลาระบายน้ำนานขึ้น ซึ่งจากคำชี้แจงดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า กทม.ไม่ได้เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก คือตั้งแต่เวลา 00.20 น. ของวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งมีฝนตกลงมาเพียง 17 มม.เท่านั้น แต่กลับปล่อยให้มีปริมาณฝนสะสมเพิ่มมากขึ้นก่อนจนเกิดน้ำท่วมขังจึงค่อยเดินเครื่องสูบน้ำ กล่าวคือในชั่วโมงแรกมีฝนตกเพียง 17 มม. เพิ่มขึ้นในชั่วโมงที่ 2 อีก 25 มม. รวมเป็น 42 มม. เพิ่มขึ้นในชั่วโมงที่ 3 อีก 93 มม. รวมเป็น 135 มม. จนกระทั่งฝนหยุดตกมีปริมาณฝนรวมทั้งหมด 174 มม. หาก กทม.เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกก็จะสามารถระบายน้ำได้ทัน ไม่ท่วมขังเป็นเวลานานดังที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ผมได้ตรวจสอบปริมาณฝนต่อชั่วโมงที่ กทม.วัดในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากที่ดินแดงดังกล่าวแล้วข้างต้น พบว่าในช่วงเวลา 02.00-03.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักที่สุดมีปริมาณฝนไม่สูง หรือไม่เกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำของกทม. เช่น ที่สำนักงานเขตจตุจักรมีปริมาณฝน 54.5 มม. ที่ถนนเทศบาลสงเคราะห์มีปริมาณฝน 43.5 มม. และที่ถนนรัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิต มีปริมาณฝน 56.5 มม.
...
2. กทม.ได้พร่องน้ำในคืนวันที่ 13 ต.ค. ก่อนฝนตกตอนเช้ามืดของวันที่ 14 ต.ค.ซึ่งผมขอแย้งว่า หากมีการพร่องน้ำจริงหรือมีการเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกจริง น้ำจะไม่ท่วมและขังนานเช่นนี้ ผมขอยกตัวอย่างที่ดินแดง ตามข้อมูลของ กทม.พบว่ามีปริมาณฝนสะสม 174 มม. หรือคิดเป็นปริมาตรฝน 831,605.99 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ครอบคลุมพื้นที่ 4.927 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ซึ่งในพื้นที่นี้ กทม.มีเครื่องสูบน้ำมีกำลังสูบรวมกันประมาณ 30 ลบ.ม./วินาที เพราะฉะนั้น จะต้องใช้เวลาเกือบ 8 ชั่วโมง จึงจะสามารถระบายน้ำฝนซึ่งมีปริมาตร 831,605.99 ลบ.ม.ได้หมด ซึ่งตามข้อมูลของ กทม.ระบุว่าบริเวณดินแดงฝนเริ่มตกเมื่อเวลา 00.20 น. ดังนั้น หาก กทม.เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกก็จะสามารถระบายน้ำได้หมดเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. 2560 แต่ตามรายงานของ กทม. พบว่า กทม.สามารถระบายน้ำบริเวณดินแดงได้หมดเมื่อเวลา 15.15 น.ของวันที่ 14 ต.ค.นั่นคือ กทม.ใช้เวลาระบายน้ำนานถึงประมาณ 15 ชั่วโมง ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าหาก กทม.ได้มีการพร่องน้ำหรือเริ่มเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกก็จะสามารถระบายน้ำได้หมดโดยใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินเวลา 08.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. อย่างแน่นอน
นายสามารถ ระบุต่อว่า นอกจากนี้ กทม.ได้ชี้แจงว่า เหตุที่ทำให้มีน้ำท่วมขังถนนดินแดงเป็นเวลานานก็เพราะสถานีสูบน้ำที่วัดช่องลมไม่สามารถสูบน้ำได้ตามปกติ เนื่องจากมีงูเขียวเลื้อยพันสายไฟแรงสูงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ต้องเสียเวลาซ่อมนาน ได้ฟังแล้วเห็นว่าเจ้างูเขียวตัวเดียวตัวนั้นช่างมีพิษสงร้ายแรงยิ่งนัก ถึงขนาดทำให้พี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ เดือดร้อนกันอย่างหนัก เสียการเสียงาน เศรษฐกิจป่นปี้เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ก่อนถึงหน้าฝนในปีหน้า กทม.ควรกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบความพร้อมของเครื่องสูบน้ำรวมทั้งระบบไฟฟ้า ที่สำคัญ ควรหาวิธีป้องกันไม่ให้งูพันสายไฟอีก โดยอาจจะประสานขอความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวงด้วยก็ได้ นอกเหนือจากการขุดลอกคูคลอง และการจัดเก็บขยะ.