'รัชดา' อดีต ส.ส.กทม. ชี้ บัตรคนจนเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง แนะรัฐบาลติดตามตรวจสอบ รับฟังเสียงทุกด้าน
วันที่ 18 ตุลาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล คสช. มีการแจกบัตรสวัสดิการคนจนไปแล้วในหลายพื้นที่ นับแต่ต้นเดือนที่ผ่านมานั้นว่า ส่วนตัวมองว่า อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะหาข้อสรุป ซึ่งถ้ามองจากมุมเรื่องการลดภาระข้าใช้จ่ายผู้มีรายได้น้อยนั้น ถือว่ารัฐมีเจตนารมณ์ที่ดี และสามารถลดภาระได้ระดับหนึ่ง แต่จะเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ที่เข้าถึงร้านค้าร่วมโครงการกับกระรวงพาณิชย์ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด และกรณีเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ก็ใช้ได้กับร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดเท่านั้น ประชาชนยิ่งเข้าถึงลำบากกว่ากรณีร้านค้าเสียอีก จึงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไขต่อไปว่า จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนร้านค้าชุมชนกระจายไปทั่วทุกตำบล ถ้าหากจะเพิ่มเครือข่ายผ่านร้านสะดวกซื้อของเอกชนยักษ์ใหญ่ ก็จะเป็นการทำลายผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นหนักเข้าไปอีกหรือไม่
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ที่มากไปกว่านั้น รัฐบาลต้องพิจารณาในมุมของการใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทก้อนนี้ว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง มากน้อยเพียงใด หากยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวก็ย่อมจะดีกว่าแน่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก แต่มีข้อกังขาว่าบัตรสวัสดิการคนจนที่ซื้อของได้เฉพาะสินค้าที่ขายในร้านธงฟ้า แต่ไม่สามารถซื้อในร้านเล็กๆ ทั่วไป แผงขายอาหารสดในตลาดก็ไม่ได้อย่างนี้แล้ว เรียกว่าซื้อของจากร้านคนจนไม่ได้ ในทางเศรษฐศาสตร์มองว่ามาตรการนี้ไม่ส่งเสริมให้เงินเปลี่ยนผ่านมือในระบบเศรษฐกิจ เงินจะหมุนเพียงไม่กี่รอบ และปลายทางผู้รับเงินเต็มๆ คือผู้ผลิตรายใหญ่ เศรษฐกิจอาจไม่ได้รับการกระตุ้นเพียงพอ
...
"แม้รัฐจะให้เหตุผลคือ ต้องการให้ผู้ถือบัตรซื้อเฉพาะสิ่งจำเป็น ไม่ให้ไปซื้อเหล้า บุหรี่ หรือเล่นหวย แต่ถ้าเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็จะตระหนักได้ว่า อย่างไรเสียคนที่ติดอบายมุขก็คงหาทางใช้บัตรคนจนเพื่อสนองความต้องการได้อยู่ดี จึงมีหลายฝ่ายเสนอว่า ถ้าจะดำเนินมาตรการให้การช่วยเหลือ สู้โอนเงินสด 200 บาทเข้าบัญชีโดยตรงไปเลยไม่ดีกว่าหรือ เงินจะหมุนเวียนได้คล่องตัวในระดับท้องถิ่น สู่แม่ค้าส้มตำ ลูกชิ้นปิ้ง หรือร้านค้าข้างทางได้และที่สำคัญ ค่าบริหารจัดการนั้นก็น้อยกว่านี้
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นที่ต้องมีการสำรวจการดำเนินการตามมาตรการนี้อย่างใกล้ชิดว่า ติดขัด รั่วไหลหรือไม่ แม้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในทางใดทางหนึ่งได้ในวันนี้ แต่การติดตามและประเมินต้องทำควบคู่อย่างจริงจัง และหากพบว่ามีปัญหา ก็ขอให้ทบทวนโดยทันที อย่าให้ซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าว ที่หลายภาคส่วนเตือนแล้วแต่รัฐบาลไม่ฟัง เพราะไม่ว่าจะโครงการเล็กโครงการใหญ่ ถ้าดีก็เดินหน้า หากไม่ดีก็ต้องแก้ไข อย่าดันทุรัง เสียดายเงินภาษีของประชาชน" น.ส.รัชดา กล่าว.