กังวล-จิรพัฒน์-สมบัติ

ความสำคัญของภาษาสันสกฤตในโลกปัจจุบัน  ผศ.ดร.จิรพัฒน์  ประพันธ์วิทยา  ภาควิชาภาษาตะวันออก  คณะโบราณคดี   มหาวิทยาลัยศิลปากร   และที่ปรึกษาศูนย์สันสกฤตศึกษา

บอกว่า  มีความจำเป็นมากในการศึกษาประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม  ประเพณี ในเชิงลึก

ด้วยเหตุนี้เอง  ศูนย์สันสกฤตศึกษา  ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเกิดขึ้น ณ เลขที่ 8 ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา แขวงและเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร บนที่ดิน 5 ไร่ ของนางสาวจำปี คงควร ที่มอบผ่านมาทางมูลนิธิชัยพัฒนา

ศูนย์แห่งนี้ "เรามีสองส่วนคือ เรื่องการเรียนการสอนภาษาสันสกฤต และอบรมภาษาอื่นๆ อีกส่วนหนึ่งคือ บริการข้อมูลเกี่ยวกับอินเดีย ด้านวิชาการเกี่ยวกับสันสกฤต เราจะเน้นด้านพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สันสกฤต และพยายามสร้างหอสมุดให้สมบูรณ์ ที่สุด เพื่อเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาษาสันสกฤต" อาจารย์จิรพัฒน์บอก

ศูนย์สันสกฤตแห่งนี้ ผศ.ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ ผู้อำนวยการศูนย์

บอกว่า  เกิดขึ้นได้นอกจากพระบารมีในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอินเดียที่ให้งบมาจัดสร้าง 10 ล้านบาท และยังมีนักธุรกิจอินเดียสนับสนุนอีกด้วย

ความจำเป็นในการศึกษาภาษาสันสกฤตในโลกปัจจุบัน ผศ.ดร.จิรพัฒน์เสริมว่า การศึกษาเริ่มต้นอย่างจริงจังในประเทศตะวันตก หลังชาวตะวันตกพบภาษาสันสกฤตในอินเดีย ก็มีการแปลคัมภีร์ต่างๆ และยังค้นพบว่า ภาษาสันสกฤตมีความเกี่ยวข้องกับภาษาในยุโรปยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นภาษาละติน กรีก โกธิค และภาษาเยอรมันนิก ทำให้มีการศึกษาค้นคว้า หาความสัมพันธ์ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

แล้วก็พบว่า ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาหนึ่ง ที่เป็นภาษาต้นตอของภาษาต่างๆ ในยุโรป

เหล่านี้เป็นที่มาของการศึกษานิรุกติศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาภาษาจากเอกสาร ไม่ได้ศึกษาจากภาษาที่ใช้พูดกัน

สำหรับในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผศ.ดร.จิรพัฒน์ บอกว่า คงไม่มีศูนย์สันสกฤตที่ไหนนอกจากประเทศไทย ความจริงเราเริ่มสนใจภาษานี้มาก่อนแล้ว อย่างน้อยก็ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะพระองค์เสด็จไปศึกษาด้านวรรณคดีมาจากประเทศอังกฤษ และสนพระทัยวรรณคดีอินเดียมาก

พระองค์นิพนธ์แปลวรรณคดีจากภาษาสันสกฤตหลายเรื่อง เป็นต้นว่า สาวิตรี พระนลคำหลวง เป็นต้น

ศูนย์สันสกฤตในปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มเข้าไปในพื้นที่สำหรับการเรียนการสอน แต่ยังขาดอุปกรณ์ต่างๆอีกมาก

เพื่อระดมทุนเข้ามาบริหารศูนย์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย วันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2553 นี้ ศูนย์จะจัดพิธีเทวาภิเษกพระพิฆเนศ เป็นพิธียัชญะ ตามหลักพระเวทและประเพณีอินเดียโบราณ   เปิดให้คนทั่วไปเข้าดูฟรีเพื่อเป็นการเรียนรู้ศาสตร์อันแท้จริงของพราหมณ์เมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน

เมื่อเปิดเต็มรูปแบบได้เมื่อใด "ผมฝันว่าจะเป็นสถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ทั้งไทยและประเทศใกล้เคียง โดยใช้ภาษาสันสกฤต เพราะความรู้ในภาษานี้ จะช่วยให้เราศึกษาเรื่องเหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้ง" ผศ.ดร.จิรพัฒน์บอก

อนาคตของศูนย์แห่งนี้ อาจารย์จิรพัฒน์บอกว่า แม้จะเป็นสถาบันก็ต้องอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากรต่อไป เพราะถ้าอยู่อย่างเอกเทศจะลำบาก เพราะมีเป้าหมายบริการเรื่องการฝึกอบรม และการเรียนการสอนเป็นหลัก

"อนาคตเราต้องการให้เป็นสถาบันทางวิชาการ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมประเทศอื่นๆ ในโลก เพราะภาษานี้เป็นภาษานานาชาติไปแล้ว"

พร้อมบอกด้วยว่า ศูนย์ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งด้านเอกสาร และนักวิชาการจากรัฐบาลอินเดีย

อินเดียประเทศกว้างใหญ่ไพศาล ประชากรมีจำนวนมากคล้ายๆกับจีน หลังจากวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2490 ที่รับเอกราชจากอังกฤษ ก็สร้างตัวใหม่อยู่นาน แต่แม้จะพัฒนาอย่างไร ก็ยังคงรักษาเสน่ห์ของความเป็นอินเดียไว้อย่างแนบแน่น ถ้าใช้สำนวนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เรียกขานก็คือ สวรรค์กับนรกเกี่ยวก้อยไปด้วยกัน

เพราะอินเดียมีมหาเศรษฐีระดับโลกมากมาย ขณะที่คนจน คนขอทานก็ยังเป็นที่กล่าวขานอย่างมาก อินเดียมีชาวบ้านเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ ในขณะเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์ และมีพ่อมดไอทีมากที่สุดในโลกก็ว่าได้

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่มาจากมันสมองของชาวอินเดีย โดยเฉพาะอย่างที่เมืองบังกาลอร์ (Bangalore) เมืองหลวงของ รัฐกรรณาฏัก (Karnataka)

บังกาลอร์ เป็นเมืองศูนย์กลางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มองภาพรวมแล้ว กลายเป็นภาพที่ขัดแย้งกันชนิดเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว

แง่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดีย เรามีความเกี่ยวข้องกันมาอย่างยาวนานในด้านต่างๆ

"ปัจจุบันคนหันไปทางจีนมาก อินเดียจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าศึกษา เราเกี่ยวข้องกับอินเดียมานับพันปี เราต้องมองอินเดียแล้ว เพราะเป็นทั้งแหล่งความรู้และแหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ด้านเรื่องเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ อินเดียก็เป็นเจ้า เพียงแต่ไม่ได้ออกหน้าออกตา อินเดียเป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย" ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดีบอก

และเสริมอีกว่า อินเดียเป็นประเทศน่าศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะรากฐานความคิดของเรา ส่วนหนึ่งก็มาจากอินเดีย   "เราต้องเข้าใจรากฐานของเรา เราคิดอะไรได้เองก็จริง แต่ความเชื่อเรื่องสวรรค์ นรก ศีลห้า ดี ชั่ว จริงๆ เราได้มาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นคนอินเดีย เราเชื่ออินเดีย ทำไมเราไม่เชื่อจีน แสดงว่าอินเดียมีพลังมาแต่โบราณกาลแล้ว แต่การจะเข้าให้ถึงความเป็นอินเดียได้ เราก็ต้องอาศัยภาษา และภาษาสันสกฤตเป็นกุญแจสำคัญ ศูนย์สันสกฤตจะต้องเป็นศูนย์กลางความรู้ต่อไปในอนาคต มิเพียงแค่ให้
นักศึกษาคณะโบราณคดีเข้ามาเรียนเท่านั้น" ผศ.ดร.กังวลบอก

เรื่องการบริหารและความพร้อมของศูนย์ ผู้อำนวยการศูนย์สันสกฤตศึกษา ดร.สมบัติ มั่งมีสุขศิริ บอกว่า ศูนย์เริ่มก่อสร้างเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 สำเร็จเมื่อตุลาคม พ.ศ. 2552 และเปิดใช้ได้บางส่วนมาแล้วตั้งแต่มีนาคม พ.ศ. 2553

ความพร้อมของอาคารสถานที่นั้น "ปีหน้าไม่เกินเดือนมีนาคมคงพร้อม แต่ตอนนี้ยังขาดงบประมาณซื้อวัสดุครุภัณฑ์อยู่ เรารองบส่วนหนึ่งจากรัฐบาล เพื่อดำเนินการต่อไป และตอนนี้กำลังปรึกษากับคณะโบราณคดี ว่านักศึกษาชั้นปีไหนบ้าง ที่สามารถย้ายที่เรียนมาเรียนกันที่นี่ได้ สถานที่แห่งนี้ ต่อไปคงจะเป็นส่วนหนึ่งของคณะโบราณคดี"

ด้านบริการ "เรามีโครงการบริการทางวิชาการเหมือนให้เปล่า เช่น อบรมภาษาสันสกฤต เราต้องการเผยแพร่และหาทุนดูแลศูนย์ไปพร้อมๆกัน ปัจจุบันเราก็อบรมภาษาฮินดี สามารถช่วยให้นักศึกษาไปศึกษาต่อประเทศอินเดียได้เป็นอย่างดี" ดร.สมบัติบอก

ศูนย์แห่งนี้ ในอนาคตถ้าจะมีการอบรมภาษา เป็นภาษาใดก็ได้

ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาเก่าแก่ ปัจจุบันไม่มีชาติไหนพูดภาษานี้ มีแต่ศึกษาเพื่อค้นหารากเหง้าที่แท้จริงของประวัติศาสตร์ ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นภาษายุคแรกๆของโลก

การเปิดศูนย์ภาษาสันสกฤตในประเทศไทย โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลอินเดีย จึงเป็นเสมือนเปิดสะพานวัฒนธรรม เชื่อมการศึกษาเรียนรู้ เพื่อความเข้าใจระหว่างกัน.

...