รู้สึกพักนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะถูกโฉลกกับเรื่องร้อนๆซะจริง
ก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ถูกจุดกระแสว่าจะรีดเลือดกับปู เก็บภาษีน้ำจากกลุ่มเกษตรกร
กว่าผู้รับผิดชอบจะออกมาเคลียร์ได้ ก็เล่นเอาชาวบ้านแทบเชื่อไปแล้ว
เรื่องนี้ที่แดงขึ้นมาก็จาก สนช.เอง เพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช. ที่ล่าสุดก็เพิ่งขยายกรอบเวลาการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษออกไป 90 วัน
ผ่อนแรงต้านจากกลุ่มเกษตรกรไปอีกพัก
ล่าสุดกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่กรมวิชาการเกษตรรับบทเป็นมือชง ตามแนวทางอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) เพื่อรองรับแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)
แต่จากงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบและข้อเสนอแนะต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 และการแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช” ของ รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชหลายสมัย มีข้อมูลที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้
1) ประเทศไทยจะต้องสูญเสียอิสระบางส่วนในการตัดสินใจให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
2) วิสาหกิจต่างชาติซึ่งมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและทุนสูง อาจเข้ามายึดครองตลาดส่วนขยายพันธุ์ (เมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์) ของไทย
3) ประเทศไทยอาจต้องสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร และการเกษตร
4) เกษตรกรจะมีภาระต้นทุนส่วนขยายพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกมากขึ้น
5) ประเทศไทยจะต้องสูญเสียประสิทธิภาพการดูแลจัดการทรัพยากรชีวภาพลง
โดยสรุปแล้ว เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกตีความว่าเป็นการเปิดช่องให้บรรษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดพันธุ์พืช แถมยังมีบทลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ ซึ่งเป็นเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิมชาวบ้าน ในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
...
หนักถึงขั้นหวั่นเกรงว่าจะเปิดทางให้กลุ่มโจรสลัดชีวภาพ ที่อยู่ในคราบของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ทั้งในและนอกประเทศหรือไม่
ขณะนี้เสียงคัดค้านเริ่มดังขึ้น แต่กรมวิชาการเกษตรยังคงเดินหน้าต่อ แต่ก็ยอมขยายเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ จนถึงวันที่ 20 พ.ย.นี้เท่านั้น
จะถือเป็นการลักหลับพี่น้องเกษตรกร และกลุ่มต้านเรื่องนี้หรือไม่
แม้กรมวิชาการเกษตรจะยืนยันว่า เป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุน และเกษตรกรจะได้ประโยชน์สูงสุด ยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้ก็ตาม
แต่น่าแปลกใจว่าทำไมชาวบ้านไม่ค่อยเชื่อคำชี้แจงจากภาครัฐ
หรือเพราะภาพทับซ้อนของอำนาจรัฐกับกลุ่มทุนยังชัดเจนอยู่.
เพลิงสุริยะ