"วรงค์" บี้รัฐเร่งเอาผิด 900 คดีระดับปฏิบัติร่วมโกง "จำนำข้าว" ย้ำจีทูจีเก๊คือโกงปลายน้ำ "ยิ่งลักษณ์" ละเลย จึงต้องรับผิดชอบ แนะรัฐเร่งทำ 6 ข้อ จี้ "แม้ว-ปู" แสดงความรับผิดชอบขอโทษคนไทย ด้าน "ราเมศ" ย้ำ "คดีปู" ไร้อายุความ-ต้องอุทธรณ์ด้วยตัวเอง

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 60 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงสรุปคำพิพากษาคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินไปแล้วว่า จำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะเริ่มมีบางกลุ่มออกมาบิดเบือนในสื่อต่างๆ ซึ่งโครงการรับจำนำข้าว ศาลฯ ได้ให้ความชัดเจนไว้หลายประเด็น คือ 1. ศาลชี้ว่าศาลไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนโยบายของรัฐบาลว่า เหมาะสมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องกระทำโดยรัฐสภา 2. กรณีของนายกฯ หรือหัวหน้าฝ่ายปกครอง ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ใช่มีความรับผิดชอบต่อสภาเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎหมาย และย่อมถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้จึงไม่ใช่คดีดำเนินนโยบายผิดพลาด (ต้องตรวจสอบโดยรัฐสภา) แต่เป็นเรื่องของความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 3. นโยบายรับจำนำข้าว ศาลชี้ให้เห็นถึงความเสียหายทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำคือ 3.1 ต้นน้ำ พบว่ามีการโกงความชื้นเพื่อกดราคาข้าว โกงน้ำหนักซื้อข้าวจากชาวนา และมีการสวมสิทธิ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการออกใบประทวนเท็จ ใช้เอกสารปลอม 3.2 กลางน้ำ พบว่ามีข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวสูญหายจากโกดัง แต่ทั้งสองระดับนี้ศาลชี้เป็นความเสียหายจากฝ่ายปฏิบัติ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ป้องกันความเสียหายแล้วจึงไม่มีความผิด สอดคล้องกับที่ ป.ป.ท.เตรียมดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) โรงสีและเซอร์เวเยอร์ที่ร่วมมือทุจริตกว่า 900 คดี จึงขอเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด

...

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า 4. ศาลได้ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตในขั้นตอนปลายน้ำ คือ การระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งเป็นการขายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยแอบอ้างสัญญาแบบรัฐต่อรัฐเพื่อนำข้าวมาเวียนเทียนขายแก่ผู้ค้าในประเทศ และชี้ให้เห็นถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า 4.1 ส.ส.ได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจให้รู้รายละเอียด และวิธีขายที่ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของรัฐต่อรัฐ 4.2 พาดพิงถึงผู้ประกอบธุรกิจค้าข้าว ที่เคยเกี่ยวข้องกับการทุจริตเกี่ยวกับการค้าข้าวในอดีต และคนที่เป็นผู้ช่วย ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่ได้แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจจีนมาซื้อข้าว 4.3 ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐจริง 4.4 แม้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่กรรมการก็ล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายบุญทรง และการตรวจสอบก็ไม่ตรงประเด็นการอภิปราย แสดงว่าเป็นการตรวจสอบไม่จริงจัง 4.5 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรับ นายบุญทรง ออกวันที่ 30 มิ.ย. 56 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนานถึง 7 เดือน ซึ่งมีการทำสัญญาจีทูจีเพิ่มอีก 4.6 พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบว่าการขายไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้งปล่อยให้มอบข้าวตามสัญญา ศาลได้พิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คือ ความผิดของการทำโครงการรับจำนำข้าวในขั้นตอนปลายน้ำ โดยการระบายข้าวแบบจีทูจี บทสรุป 1. การดำเนินนโยบายช่วยชาวนานั้น ไม่ผิด แต่ผิดที่มีการทุจริต หรือปล่อยให้มีการทุจริต 2. การทำโครงการรับจำนำข้าว มีความเสียหายทุกขั้นตอน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพียงแต่ขั้นตอนต้นน้ำ และกลางน้ำ เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายปฏิบัติ ส่วนปลายน้ำคือระบายข้าวแบบจีทูจี เป็นความรับผิดชอบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานปล่อยปละละเลย 3. นี่คือการตรวจสอบผ่านระบบรัฐสภา โดยอาศัยกลไกปกติของระบอบประชาธิปไตย

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ตนมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 1. รัฐบาลต้องชี้แจงข้อเท็จจริง และผลคำพิพากษาของศาลแก่ประเทศที่เกี่ยวข้องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปพำนักอาศัย 2. ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเป็นระยะๆ เพราะขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมกำลังก่อตัวขึ้น 3. การขอตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากประเทศที่หลบหนีพร้อมยกเลิกพาสปอร์ต และเรื่องที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการตามกฎหมายปกติ ห้ามใช้มาตรา 44 และ 4. หลังจากชี้แจงประเทศผู้เกี่ยวข้องที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พำนัก ถ้าประเทศเหล่านี้อยากได้คนพัวพันการทุจริตอยู่กับเขา ก็อย่าไปเสียเวลา เพราะประเทศไทยต้องเดินต่อไปข้างหน้า และยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก 5. ให้รัฐบาลทุ่มเทจริงจังกับเรื่องต่อต้านการทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายที่เอาประชาชนมาบังหน้า 6. ขณะนี้พี่น้องเกษตรกรยังลำบาก รัฐบาลต้องมีมาตรการในการดูแลเกษตรกรบนพื้นฐานที่ไม่โกง คือ โครงการประกันรายได้ และสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เกษตกรด้วยระบบสหกรณ์ ทั้งนี้ ตนเห็นว่านโยบายรับจำนำข้าวมีพื้นฐานมาจาก "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ยิ่งลักษณ์นำไปปฏิบัติ" โดยกำหนดราคาสูงกว่าตลาดเพื่อชี้นำราคาข้าวในตลาดโลก แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวและนำไปสู่การทุจริต เพื่อสร้างบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตย คิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายทักษิณ ควรจะขอโทษประชาชนคนไทย เพื่อแสดงสำนึกของความรับผิดชอบต่อความเสียหายครั้งนี้

ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษก และฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จับคดีนี้แต่ต้น กล่าวว่า คดีนี้มีความพยายามบอกว่าเป็นคดีการเมือง ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเป็นคดีอาญาตามความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยื่นอุทธรณ์ ก็ต้องมาแสดงตนกับศาล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเก่า และในเรื่องอายุความนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/5 ซึ่งในมาตรา 74/1 ระบุไว้ว่า จำเลยที่หลบหนีระหว่างพิจารณาคดีไม่ให้นับอายุความ ดังนั้น ทั้งเรื่องการยื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเองและไม่มีอายุความ จึงเป็นไปตามกฎหมายเก่า ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เพิ่งออกมามีผลบังคับใช้ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาเพื่อเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จึงขอให้รัฐบาลต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคดีนี้ และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำงานเต็มที่ ทั้งกรรมการ ป.ป.ช. คณะอัยการเจ้าของสำนวน ทั้ง นายธรรมรงค์ชัย วงษ์สวัสดิ์ และนายปกรณ์ ธรรมโรจน์ ที่ได้ร่วมงานแล้วเห็นว่าได้ทำหน้าที่ปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง สมกับเป็นทนายของแผ่นดิน