สนช.ยันไม่เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย เตรียมบี้เก็บจากเกษตรกรรายใหญ่อย่างเดียว สั่งกรมทรัพยากรน้ำทบทวนกฎกระทรวง แบ่งประเภทเกษตรกรให้ชัดเจน คาดใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.60 ที่รัฐสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เรียกเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร ว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า จะมีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ขอยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะใช้บังคับเฉพาะการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนอกเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ คลอง ห้วย ไม่เกี่ยวกับการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำในเขตชลประทาน อีกทั้ง กมธ.ยังไม่มีมติเรียกเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรตามมาตรา 39 เพราะเป็นเรื่องที่ต้องนำมาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ ให้แบ่งประเภทผู้ใช้น้ำให้ชัดเจน ไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ร่างกฎหมายนี้จะไม่มีเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อยที่ใช้น้ำเพื่อการยังชีพ แต่จะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์การแบ่งประเภทเกษตรกรรายย่อยและรายใหญ่ จะต้องไปออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง ขณะนี้ให้กรมทรัพยากรน้ำจัดทำหลักเกณฑ์การแบ่งประเภทเกษตรกรส่งมาให้ กมธ.อยู่ เพราะกฎกระทรวงเดิมที่เสนอมา มีการแบ่งประเภทเกษตรกรโดยวัดจากจำนวนที่นา และจำนวนสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่ครอบคลุมรายละเอียดเพียงพอ กมธ.ต้องการให้เกิดความชัดเจนในรายละเอียดเหล่านี้ จะไม่ยอมให้มีการตีเช็คเปล่าเสนอมา แล้วไปเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลัง
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ระบุว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ต.ค.นั้น ไม่เป็นความจริง เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แม้จะผ่านการรับหลักการจาก สนช.มาแล้ว เมื่อวันที่ 2 มี.ค.60 แต่ช่วงนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ร่างกฎหมายยังไม่ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ดังนั้น กมธ.จึงต้องนำร่างกฎหมายไปรับฟังความเห็นจากเกษตรกรให้ทั่วถึงก่อน ขณะนี้รับฟังความเห็นแล้ว 29 จังหวัด ทุกพื้นที่เห็นด้วยไม่ให้เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย และในวันที่ 17-18 ต.ค.นี้ จะไปรับความเห็นจากเกษตรกร จ.สงขลา อีกทั้ง กมธ.มีมติขอขยายเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ออกไปอีก 90 วัน หากที่ประชุม สนช.อนุมัติ การพิจารณาของ กมธ.จะไปสิ้นสุดในวันที่ 25 ม.ค.61 ดังนั้นหากจะมีผลบังคับใช้จะเป็นช่วงต้นปีหน้า จากนั้นจะต้องออกกฎกระทรวงรองรับการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวอีก 27 ฉบับ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์
...