"วิษณุ" ยืนยัน ทาบทาม "ชัชชาติ" ไม่ใช่การสื่อสารผิดพลาด แต่เป็นเพราะเหตุผลส่วนบุคคล ยอมรับเสียใจ-เสียดาย ความสามารถที่คิดว่าจะช่วยชาติได้ ยัน รบ.ไม่เสียหน้า หลังถูกปฏิเสธ
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.60 ที่โรงแรมเดอะเบิร์คลีย์ ประตูน้ำ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ลาออกจากตำแหน่งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสการพัฒนาทางสังคม ว่า เขาทำตามเจตนาของตัวเอง แต่น่าเสียดาย เพราะหวังที่จะได้ใช้สติปัญญา วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของคนเหล่านั้น แต่ก็ไม่เป็นไร และรู้สึกเห็นใจ โดยการเชิญนายชัชชาตินั้น เป็นเพราะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานรวมอยู่ด้วยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิศวกรรม โครงสร้างถนน เส้นทางรถไฟ เส้นทางคมนาคมขนส่ง ซึ่งเราได้นายไกร ตั้งสง่า อุปนายกสภาวิศวกร มาร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ และเขาได้แนะนำให้ตนทราบว่านายชัชชาติมีความเหมาะสมที่จะร่วมเป็นกรรมการชุดดังกล่าวด้วย เพราะเห็นว่านายชัชชาติเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในด้านนี้อยู่ จากนั้นได้มีบุคคลไปติดต่อพูดคุยกับนายชัชชาติ ซึ่งนายชัชชาติให้คำตอบรับมาในตอนแรก แต่ในเมื่อตอนนี้เขาถอนตัวออกไป ก็จบ และเข้าใจว่าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง อีกทั้งไม่เกี่ยวอะไรกับการทำให้รัฐบาลเสียหน้า อย่างไรก็ตามจะมีการแต่งตั้งบุคคลอื่นมาแทนที่คนลาออก แต่ยังไม่ใช่ในสัปดาห์นี้
"เมื่อเขาขอออกไป ก็ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก ต้องขอขอบคุณท่านที่ได้ตอบรับในตอนนั้น แต่ขณะนี้ก็น่าเสียดาย เสียใจ แต่ก็ไม่เป็นไร ท่านก็เข้าใจดี และผมก็เข้าใจท่านดีเช่นกัน ผมเองเคยได้รับเชิญให้ไปเป็นตำแหน่งหนึ่งในอดีต แต่ก็ได้ลาออกไป ซึ่งมาจนถึงวันนี้ผมยังรู้สึกว่าได้ทำให้เขาผิดหวัง" นายวิษณุ กล่าว
...
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า สำหรับการที่นายสมชัยขอลาออกนั้น เป็นเพราะระเบียบของสถาบันทีดีอาร์ไอที่ไม่ต้องการให้ไปทำอะไรซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อองค์กร ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อครั้งมีการแต่งตั้งกรรมการปฏิรูปประเทศ ก็มีผู้มายื่นขอลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน ทั้งนี้การเชิญคนมาร่วมเป็นกรรมการนั้น เราไม่ได้ยึดถือองค์ประกอบเรื่องของการเมือง คิดถึงแค่เพียงคุณสมบัติของเขา และไม่ได้มีเส้นมีสายตามที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กล่าวอ้าง เพียงแต่เราไม่ได้นำเหตุผลเหล่านั้นมาเปิดเผย อย่างไรก็ตามหลังจากแต่งตั้งกรรมการครบหมดทุกคณะแล้ว เราคงจะมีการเปิดเผยว่าแต่ละคนเข้ามาด้วยคุณสมบัติอะไร
เมื่อถามว่า ขั้นตอนการทำงานหลังจากนี้ จะต้องให้ประธานคณะกรรมการทั้ง 6 คณะ ประชุมและรับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยากให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นัดหารือกับประธานและเลขานุการของคณะกรรมการทั้งหมดนี้ เพื่อพูดคุยเรื่องงานธุรการ สถานที่ วันและเวลาการประชุม รวมถึงวิธีทำงาน จากนั้นหากนายกรัฐมนตรีประสงค์ที่จะให้มาพบกัน คงจะได้นัดหมาย ซึ่งอาจรวมไปถึงประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 15 คณะ หรืออาจให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดมาประชุมพร้อมกัน ซึ่งตนทราบว่านายกรัฐมนตรีมีแนวคิดดังกล่าวอยู่เช่นกัน แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีขึ้นเมื่อใด.