เมื่อวานนี้ผมเขียนตั้งข้อสังเกตการพัฒนาประเทศในรูปแบบยืมจมูกคนอื่นหายใจ โดยเฉพาะการพึ่งพาการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อันเป็นนโยบายที่ประเทศไทยเรานำมาใช้ตลอดระยะเวลาของการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากล่าสุดได้มีการเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศ ให้มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ส่งผลให้มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นกว่า 600 ราย เดินทางมาประชุมหารือกับฝ่ายไทย

ผมขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้ขัดแย้งกับนโยบายนี้ เพราะเล็งเห็นในความจำเป็นของประเทศที่จะต้องเดินไปข้างหน้า

แต่ก็เป็นห่วงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นของช่องว่างของรายได้ ที่จะทำให้ประเทศไทยของเราซึ่งมีปัญหาอยู่แล้ว มีปัญหามากขึ้นอีกในอนาคต

เผอิญว่าผมไม่เห็นความชัดเจนของรัฐบาลในประเด็นดูแลเรื่องการกระจายรายได้ ซึ่งอาจจะมีแล้วแต่ไม่ได้มีการทำประชาสัมพันธ์มากนัก ผมนึกว่าไม่มีก็เลยต้องเขียนขึ้น เพื่อฝากเป็นข้อคิดกันลืม

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ผมอยากให้นึกถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 อันเป็นแผนพัฒนาที่ร่างขึ้นในยุค ป๋าเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีโครงการเอกที่กลายมาเป็นโครงการต้นตระกูลสำหรับโครงการ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือบิ๊กตู่ ท่านถือเป็นโครงการช้างเผือกของท่านอยู่ในขณะนี้

ได้แก่โครงการ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” หรือ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นเหลือนั่นเอง

แผนพัฒนาฉบับที่ 5 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า จะมุ่งหน้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แต่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเกิดช่องว่างของรายได้ขึ้นอย่างมหาศาล

จำเป็นจะต้องมี แผนพัฒนาชนบทยากจน เพื่อที่จะดูแลคนยากจนในชนบทที่อาจมิได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆเลยควบคู่กันไปด้วย

...

จึงเกิดการพัฒนาคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ด้าน คือทั้ง แผนพัฒนาอุตสาหกรรม ที่มีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นหัวหอก กับการ พัฒนาชนบทยากจน ในพื้นที่ชนบททั่วประเทศไทย และก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจทั้ง 2 ด้าน

โครงการ อีสเทิร์นซีบอร์ด ทำให้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติโดยรวมของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อบวกกับการพัฒนาอื่นๆด้วย เราจึงทะลุขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง หลุดพ้นจากนิยามความเป็นประเทศยากจนโดยสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน จำนวนคนจนของประเทศไทยก็ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับยุคก่อนที่จะมีการพัฒนา และถึงแม้รายได้ของคนจน ไทยอาจจะไม่สูงมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่แผน 5 แผน 6 ทำไว้ก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ได้มีสิ่งที่เรียกว่า “ความจำเป็นพื้นฐาน” เกือบครบถ้วน

เรียกกันในสมัยนั้นว่า จปฐ. อันหมายถึง บริการพื้นฐานด้านการศึกษา, สาธารณสุข, มีบ้านอยู่อาศัย, มีถนนเชื่อมถึง, มีไฟฟ้าใช้, มีน้ำสะอาดดื่มครบทุกหมู่บ้าน ฯลฯ

ที่สำคัญก็คือ ในช่วงของการพัฒนาดังกล่าว เราจะมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือภาคบริการอย่างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานจากชนบทไทยมากที่สุด คือจากภาคอีสาน และภาคเหนือ มิใช่ใช้แรงงานต่างด้าวดังเช่นในยุคนี้

ทำให้เกิดความห่วงใยขึ้นว่า บนเส้นทางใหม่ที่เรากำลังจะเดินและจะต้องยืมจมูก “ต่างประเทศ” มาช่วยหายใจหลายๆจมูกจะไหวหรือ? จมูกบน เรื่องทุน เรื่องเทคโนโลยียังพอทำเนา แต่จมูกล่าง แรงงานขั้นพื้นฐานต่างๆเป็นแรงงานต่างด้าวหมด

แล้วแรงงานไทยรุ่นใหม่ล่ะจะไปทำอะไรกัน? เพราะจะให้กลับไปทำงานหนักๆขั้นพื้นฐานอีกก็คงไม่ยอมทำกันแล้ว

ที่เขียนเรื่องนี้มา 2 วัน ก็เพื่อจะเตือนไม่ให้นักเศรษฐศาสตร์ของ “บิ๊กตู่” ท่านลืมปัญหาใหญ่ที่สุดของชาติในเรื่อง “ช่องว่างความแตกต่างของรายได้” ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการไปสู่ 4.0 เท่านั้นเอง...ถ้าคิดไว้แล้วก็ดีแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้คิดก็ฝากให้คิด...เท่านั้นแหละครับ.

“ซูม”