ขอบคุณภาพจาก : กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กองทัพเรือจัดพิธีรำลึกวันเรือดำน้ำ ครบรอบ 80 ปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรประวัติ ชุดเรือหลวงมัจฉาณุทั้ง 4 ลำ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ถือเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ธงราชนาวีไทยได้ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา และโบกสะบัดพัดพลิ้วอย่างสง่างาม...
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 60 พล.ร.อ.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในงานพิธีรำลึกวันเรือดำน้ำ ครบรอบปีที่ 80 ณ กองบัญชาการ กองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ การท่าเรือแหลมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พล.ร.ต.วิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ คณะนายทหาร ข้าราชการ ตลอดจนญาติของอดีตกำลังพลเรือดำน้ำ ร่วมให้การต้อนรับ โดยพิธีทางศาสนา นิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป มาสวดพระพุทธมนต์ และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ผู้วายชนม์ อดีตกำลังพลเรือดำน้ำ เพื่อรำลึกถึงวีรประวัติ ชุดเรือหลวงมัจฉาณุทั้ง 4 ลำ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย
...
พล.ร.อ.สุชีพ กล่าวว่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 4 ก.ย. 2480 เป็นวันที่ บริษัท มิตซูบิชิ แห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาการว่าจ้างต่อเรือดำน้ำ จำนวน 4 ลำ ให้กับกองทัพเรือ ได้สร้างเรือดำน้ำ 2 ลำแรก เสร็จสมบูรณ์ ได้แก่ เรือหลวงมัจฉาณุ และ เรือหลวงวิรุณ และได้ทำพิธีส่งมอบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำ ให้แก่กองทัพเรือ นับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ ที่ธงราชนาวีไทยได้ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา และโบกสะบัดพัดพลิ้วอย่างสง่างาม ณ บริเวณท้ายเรือหลวงมัจฉาณุ และเรือวิรุณ เป็นครั้งแรก
ภายหลังจากที่บริษัทฯ สร้างเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ เสร็จสมบูรณ์ และส่งมอบเรือให้กองทัพเรือแล้ว เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และ เรือหลวงพลายชุมพล ได้ออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2481 และเดินทางถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2481 ตามลำพังโดยปราศจากเรือพี่เลี้ยง ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่น และชาวอเมริกันเป็นอันมาก เพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ต่างประเทศย่อมมีเรือพี่เลี้ยงทั้งสิ้น นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความกล้าหาญและความสามารถของกำลังพลประจำเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้ปลดระวางประจำการ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2494 ภายหลังรับใช้ราชการในกองทัพเรือเป็นเวลากว่า 14 ปีเต็ม
ซึ่งในระหว่างประจำการ มีการปฏิบัติงานระหว่างสงครามที่สำคัญที่ต้องจารึกไว้ คือ เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และเรือตอร์ปิโด ถูกเรือฝรั่งเศส ยิงจมแล้ว เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนว อยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนแล่นลาดตระเวนบนผิวน้ำ นับเป็นปฏิบัติการดำที่นานที่สุดที่เคยดำมา ซึ่งยังปรากฏจากหลักฐานของฝ่ายฝรั่งเศสในการรบที่เกาะช้าง ว่าฝรั่งเศสมีความหวั่นเกรง เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำของไทยมาก แต่เพื่อผลของการยุทธ จึงได้ตัดสินใจเลี่ยงเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทย โดยกำหนดแผนการปฏิบัติเป็นช่วงระยะเวลาสั้นมาก เมื่อปฏิบัติการเสร็จก็รีบถอนตัวกลับทันที เพราะเกรงว่าจะถูกต่อตีด้วยเรือดำน้ำ
เนื่องในวันเรือดำน้ำที่เวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ 80 อีกครั้งในวันที่ 4 ก.ย. 60 ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และ จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกใน ที่ได้ทรงวางรากฐานกิจการเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรือ และพร้อมใจกันร่วมเชิดชูเกียรติประวัติของกำลังพลประจำเรือดำน้ำแห่งราชนาวีไทยในอดีตที่แสดงถึงความกล้าหาญ ความเสียสละ และความทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจที่ได้ให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติ
กองทัพเรือเล็งเห็นความสำคัญของการมีเรือดำน้ำมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากความพยายามอย่างต่อเนื่องที่เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำกลับเข้าประจำการอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่กองทัพเรือกำลังจะมีเรือดำน้ำเข้าประจำการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2566 อันจะเป็นการเสริมเติมเต็มให้กองทัพเรือมีสมรรถนะและขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือครบทุกมิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และ ในอากาศ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้ประเทศชาติและประชาชนมีความเชื่อมั่น และภาคภูมิใจในการรักษาอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติได้เป็นอย่างดี.