กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ระบบราชการจะปฏิรูปตัวเองได้อย่างไร แค่ไหนก็ต้องให้เวลาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการดำเนินการ

แต่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนก็คือในระบบราชการหรือเครือข่ายของคนในภาครัฐจะต้องใช้ จริยธรรม เป็นธงนำในการปฏิบัติการไม่ว่าด้านใดๆ

เมื่อก่อนมีคนเคยพูดเคยบอกว่าราชการนั้นมี วินัย ค้ำคออยู่แล้ว จะเอาอะไรกันอีก มาถึงยุคนี้จะคิดเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้ว

มีคำอธิบายเปรียบเทียบระหว่าง จริยธรรม กับ วินัย ที่ นายประวีณ ณ นคร อดีตเลขาธิการ ก.พ. ให้ข้อคิดไว้ชัดเจนดังนี้

“จริยธรรม” (ETHICS) คือ มาตรฐานทางพฤติกรรมที่พึงถือปฏิบัติเพื่อความดีงาม คำว่า “จริยธรรม” เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนที่เป็นข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติโดยชัดเจน เมื่อกำหนดเป็นรูปธรรม เป็นข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติชัดเจน จะเรียกว่า “ประมวลจริยธรรม”

“วินัย” (DISCIPLINE) คือ มาตรฐานทางพฤติกรรมที่ต้องถือปฏิบัติเพื่อผลสัมฤทธิ์ของงาน คำว่า “วินัย” เป็นทั้งนามธรรม คือ พฤติกรรมที่แสดงออก และรูปธรรม คือข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่า ทั้งจริยธรรมและวินัย ต่างก็เป็น มาตรฐานทางพฤติกรรมสำหรับถือปฏิบัติของคน แต่ต่างกันที่จริยธรรมเป็นมาตรฐานที่พึงปฏิบัติ ซึ่งรวมทั้งทางจิตใจและทางการกระทำ ส่วน วินัยเป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติในการกระทำไม่รวมถึงความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ

ความแตกต่างระหว่างจริยธรรมกับวินัยอีกประการหนึ่งอยู่ที่จุดประสงค์ ซึ่งจริยธรรมมีจุดประสงค์เพื่อความดีงาม ซึ่งกว้างกว่าวินัยที่มีจุดประสงค์เพื่อผลสัมฤทธิ์ของงานที่ทำเท่านั้น

...

เมื่อนำหลักพัฒนาการทางจิตของคนตามทฤษฎีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโคลเบอร์กมาใช้กับการพัฒนาข้าราชการในการรักษาจริยธรรมและวินัย จะเปรียบเทียบได้ดังนี้

ผู้เข้ารับราชการใหม่และข้าราชการในระดับต้นตำแหน่งปฏิบัติการ เป็นคนในระดับก่อนกฎเกณฑ์ ซึ่งตัดสินใจทำการใด โดยมักจะคำนึงถึงประโยชน์และโทษที่ตนจะได้รับ และการสนองความต้องการของตน โดยไม่ค่อยจะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม การทำให้คนระดับนี้มีจริยธรรมและวินัย ต้องใช้วิธีสั่งสอนให้รู้ให้เข้าใจและบังคับให้ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเน้นเรื่องวินัยเพื่อสร้างพฤติกรรม

ผู้บังคับบัญชาในระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้ากองขึ้นไป และข้าราชการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไปเป็นคนในระดับเหนือกฎเกณฑ์ ซึ่งตัดสินใจทำการใดโดยยึดหลักเคารพตนเอง และอุดมคติ การทำให้คนระดับนี้มีจริยธรรมและวินัย ไม่ควรใช้วิธีสั่งสอน เพราะจะเข้าทำนอง “สอนธรรมะแก่สังฆราช” แต่ควรใช้วิธีชี้นำให้ทำเป็นต้นแบบให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้อยู่ในระดับต่ำกว่าปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเน้นเรื่องจริยธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึก

ต้องใช้ทั้งจริยธรรมและวินัยจึงจะได้ผลสมบูรณ์ในการทำให้ข้าราชการเป็นคนดี.

“ซี.12”