ปฏิรูปประเทศ อีกความหวังคนไทย
กว่าจะเดินหน้าได้เต็มตัวก็ต้องผ่านคณะทำงานมาแล้ว 2 ชุด คือ สปท.-สปช. จนมาถึงชุดที่ 3 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน 11 คณะ รวมทั้งสิ้น 150 คน
หลังจากที่ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการเพื่อปฏิรูปประเทศมีผลบังคับใช้ก็ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการฯ โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
มีอำนาจหน้าที่ 6 ประการ
1.กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
2.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ
3.กำหนดวิธีการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ
4.เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอแนะต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องการดำเนินการตามแผนการปฏิรูป
5.กำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้ในการประเมินผล
6.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายหรือตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย
นอกจากนั้นมีอำนาจติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล เนื่องจากต้องทำหน้าที่ควบคุมกำกับหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการปฏิรูป
เพื่อให้การทำงานสอดประสานกันไม่ให้เกิดปัญหา
คงได้เห็นรายชื่อคณะกรรมการแต่ละคณะทั้ง 11 ด้านไปแล้ว ใครเป็นใครดูกันก็แล้วซึ่งมีรายชื่อคนเก่าๆ ที่เคยทำงานด้านนี้มาแล้ว
มีคนใหม่ๆหลายคนเข้ามาทำหน้าที่
จะพูดว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” คงไม่ได้ แต่เป็นการประสานระหว่างคนเก่า-คนใหม่ ดูหน้าดูตากันแล้วก็พอไปวัดไปวาได้
ต้องยอมรับว่าบุคคลที่เคยทำหน้าที่ทั้งในส่วนของ สปท. และ สปช.นั้นว่าที่จริงก็มีทั้งคนที่ตั้งใจทำงานแต่ไม่ออกข่าว ที่ออกข่าวก็ไม่ค่อยมีผลงาน ที่มีผลงานบ้างไม่มีผลงานบ้างก็พอมี
...
แต่หลายคนมุ่งหวังเพื่อโชว์ตัวเพื่อหวังผลทางการเมืองในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพวกที่ไม่รู้จักหน้าที่ ไม่รู้จักภารกิจที่ได้รับมอบหมายจนทำให้เกิดปัญหายุ่งยากสังคมสับสนไปหมด
และยังมีอีกครับ...พวกชอบสร้างข่าวดังส่งเสียงเชียร์ คสช. จนออกนอกหน้าเพื่อหวังตำแหน่งในก้าวต่อๆไป
ส.ว.250 คนไงล่ะครับ...
ที่แน่ๆ อีกเช่นกันเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจ่ายให้ สปท.-สปช.ไปไม่ใช่น้อยเหมือนกัน และจะต้องมาจ่ายให้คณะกรรมการชุดใหม่อีกไม่น้อยและจะอยู่ในตำแหน่งยาวถึง 5 ปีด้วย
ก็หวังว่าชุดสุดท้ายนี้จะทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบมุ่งประโยชน์ต่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะการปฏิรูปประเทศครั้งนี้หากสามารถทำให้สำเร็จอย่างน้อยก็สัก 70-80% ก็จะเป็นประโยชน์อย่างสูง
ไม่ใช่เพื่อ คสช.-รัฐบาล หรือนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด เพราะมันหมายถึงอนาคตข้างหน้าที่สดใสและแวววาว
ฉะนั้น คณะกรรมการทุกคนจึงมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบด้วย.
“สายล่อฟ้า”