ครม.เห็นชอบหลักการ "พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน" เพิ่มสิทธิลูกจ้างหากนายจ้างเบี้ยวเงิน กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ปรับอัตราชดเชย 400 วัน จากเดิม 300 วัน หากเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน โดยมีสาระสำคัญเรื่องการเพิ่มเติมสิทธิของลูกจ้าง โดยกำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในกรณีที่นายจ้างผิดนัดการจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและนายจ้างใหม่ ก่อนรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ กำหนดให้ลูกจ้างชายหรือหญิงได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกันในงานที่มีคุณค่าเท่ากัน รวมถึงกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระในเหตุที่จำเป็นโดยได้รับค่าจ้าง ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ยังได้พิจารณาเพิ่มอัตราค่าชดเชย กรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน เดิมกฎหมายเก่ากำหนดไว้ว่าต้องทำงานครบ 10 ปี ขึ้นไปถึงจะได้รับค่าชดเชย 300 วันเท่านั้น
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้นมีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางอย่างไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้คุ้มครองลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเเก้ไขเพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้สูงขึ้น