"หมอเจตน์" มั่นใจกฎหมายยาสูบทำสิงห์อมควันลด ชี้รอประเมินผล 6 เดือน-1 ปี ระบุร้านค้า-ผู้ซื้อระมัดระวังมากขึ้น หวั่นผิดกฎหมาย มั่นใจช่วยลดนักเรียน-นักศึกษาเข้าถึงยาก แนะ สธ.-สสส.รณรงค์เข้มข้นประเด็นบทลงโทษสูง
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 60 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และเชื่อว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่จะลดลง และกฎหมายไปสักระยะหนึ่งอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ถึงจะเห็นผลได้ เพราะสาระสำคัญของกฎหมายต้องการควบคุมการขายบุหรี่หรือยาสูบ เพื่อป้องกันและมุ่งที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย อาทิ การห้ามแบ่งซองขาย เพื่อช่วยลดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนเข้าถึงได้ยากขึ้น และไม่มีเงินที่จะไปซื้อ ถือว่าเป็นผลดีของกฎหมายฉบับดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทที่ผลิตบุหรี่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยต้องเปิดเผยส่วนประกอบว่ามีสารชนิดใดบ้าง เพราะมีหลายตัวก่อให้เกิดมะเร็งได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ว่ามีสารชนิดใด และจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งบริษัทก็ไม่สามารถในการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมได้ เพราะปกติก็ไม่สามารถประชาสัมพันธ์ได้อยู่แล้ว
นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า แต่เท่าที่ดูจากข่าวและสื่อโซเชียลต่างๆ ผู้ประกอบการ ร้านค้า รวมทั้งผู้ซื้อมีความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็เกิดความกลัวว่าจะมีความผิด น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหากดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และ สสส.จะต้องช่วยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ถึงข้อดี ข้อเสีย รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ให้ผู้ขาย-ซื้อว่า ควรจะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อกฎหมายบังคับใช้ไประยะหนึ่ง ต้องมาทบทวนว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่เป็นอย่างไร เพื่อที่จะหาวิธีการว่าจะทำให้การลดสูบบุหรี่ลดลงให้ได้มากที่สุด
...
"กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ อาจเป็นกฎหมายที่บังคับเข้มงวดกับการสูบบุหรี่และผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่จะส่งผลดีต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยในระยะยาว ให้พ้นจากโรคมะเร็ง โรดปอดเรื้อรังที่เกิดจากพิษภัยของบุหรี่ ส่งผลต่อสุขภาพพลานามัย และเศรษฐกิจของประชาชนด้วย" นพ.เจตน์ กล่าว