"พงศ์เทพ" ชี้ถ้าหลักการ ก.ม.อาญานักการเมืองดีจริง ต้องใช้กับคดีอาญาทุกประเภท ไม่เลือกปฏิบัติ เร่งรัดเฉพาะบางคดี 

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 60 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ สนช.เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า หลักการพิจารณาคดีอาญาที่เป็นหลักสากลต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย และบังคับกับคดีอาญาทุกประเภท เพราะคดีที่ไปสู่ศาลฎีกาฯ นักการเมือง เช่น คดียื่นบัญชีทรัพย์สิน เมื่อเทียบกับคดีอาญาอื่น บางครั้งคดีอาญาอื่นก็รุนแรงมากกว่า เช่น คดีฆ่ายกครัว หรือคนที่ยึดอำนาจรัฐ ความผิดฐานกบฏ ก็ร้ายแรงกว่าคดีอาญานักการเมือง ถ้านำวิธีพิจารณาคดีลับหลังมาใช้กับคดีอาญากับนักการเมือง ทำไมคดีเหล่านั้นไม่ใช้วิธีพิจารณาคดีลับหลังด้วย แสดงว่าไม่ใช่หลักการที่ดี เพราะถ้าดีต้องใช้กับทุกคดี และหลักทั่วโลกคดีอาญาต้องทำต่อหน้าจำเลย ต้องให้จำเลยได้รับสิทธิในการต่อสู้คดี ไม่มีเหตุผลต้องเร่งรัดคดี และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ศาลยุติธรรม รัฐบาล แสดงท่าทีต้องการทำแบบนี้เลย แสดงว่าไม่ใช่หลักการที่ดี ข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัด คือ หลักการไม่ถูกต้องและเลือกปฏิบัติ

เมื่อถามว่า ยังมองถึงโอกาสที่จะมีการทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เมื่อ สนช.เห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 ให้ส่งความเห็นให้ กรธ.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น ส่วนตัวมองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้รับผิดชอบคือประธานศาลฎีกา แต่วรรค 5 ไม่ได้บอกว่าให้ส่งศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เท่าที่ฟังดูเหมือนกับว่าทางเลขาธิการ สนช.จะส่งไปที่ศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม แต่ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์มาตรา 267 

...