"จตุพร" โยน นายกฯรับผิดชอบสร้างปรองดองให้สำเร็จ หลังยกพระราชกระแสรับสั่ง "ร.10" ชวนประชาชนร่วมเวที ไม่เกี่ยงทหารทำร่างสัญญาประชาคม ยก 66/23 เป็นตัวอย่าง ชี้หากปรองดองไม่สำเร็จ อนาคตเกิดวิกฤติแน่

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.60 นายจตุพร พรหมพันธ์ุ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เมื่อ คสช.ได้เริ่มกระบวนการสร้างความปรองดอง ประชาชนก็ไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งตนก็บอกว่าครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้อัญเชิญพระราชกระเเสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในเรื่องดังกล่าว ขอให้แผ่นดินมีความรัก ความสุข และความปลอดภัย ซึ่งเป็นพระราชกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 และ 14 ม.ค.2560 จึงทำให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือจนกระทั่งวันนี้ ซึ่งการทำงานตั้งแต่ชุดเริ่มต้นไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจ ทำงานอย่างสุขุมคัมภีรภาพ พูดกันด้วยมธุรสวาจา ซึ่ง 10 ข้อ ที่ออกมาก็แปลงมาจาก 10 คำถาม โดยเนื้อหา 10 ข้อ คือ นามธรรมจะให้เป็นรูปธรรมได้นั้น คือ ทั้ง 10 ข้อ จะสามารถสร้างความปรองดองในชาติได้อย่างไร

"ผมยินดีให้ความร่วมมือตั้งแต่ต้นจนจบมาตลอด โดยที่ผมและ นปช.ไม่เป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจที่รับผิดชอบก็คือ นายกรัฐมนตรีและ คสช. ผู้ซึ่งอัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งมาเชิญชวนประชาชนให้ร่วมปรองดอง หลายข้อแม้จะยังมีข้อสงสัยก็ถือเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเราปรองดองกันได้ก็ไม่ต้องกลับไปเหมือนเดิม เรื่องรบกันไม่ยากแต่เรื่องรักกันยาก ผมหวังว่าให้ปรองดองสำเร็จ หากไม่สำเร็จหนทางข้างหน้าก็จะเกิดวิกฤติที่รอข้างหน้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนนอกหรือคนในก็เกิดวิกฤติอยู่แล้วถ้าไม่มีการปรองดอง ปัญหาและสถานการณ์ก็ยิ่งจะเลวร้ายขึ้น ดังนั้นขอให้พิสูจน์กันก่อนว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญาประชาคม แม้จะเป็นนามธรรมแต่จะให้นายกฯใช้เวลาที่เหลือทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม" นายจตุพร กล่าว

...

นายจตุพร กล่าวต่อว่า ถ้าสังคมอยู่ในความกลัวความปรองดองก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากกล้าที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย เพราะรักชาติบ้านเมืองเหมือนกันรักสถาบันเหมือนกัน 10 ข้อในร่างสัญญาประชาคมถือเป็นภาคที่หนึ่งต้องดูภาคต่อไป จะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ไม่ใช่ความสำคัญเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คนไทยรักได้เหมือน ศีล 5 ที่คนก็เห็นด้วยแต่จากปฏิบัติได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมากองทัพก็เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้วเช่นนโยบาย 66/23 เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลว่ากรรมการที่ทำเรื่องนี้เป็นนายทหารแล้ว จะเป็นกลางหรือไม่ ผลที่ออกมา คนไทยรับได้ที่เหลือก็เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี หวังว่าเมื่อเกิดความปรองดองขึ้นแล้ว คงจะไม่กลับไปเหมือนเดิมทหารก็ไม่ต้องเข้ามาอีก แล้วก็ไม่ต้องทำปรองดองกันอีกซ้ำอีก

นายจตุพร กล่าวอีกว่า เนื้อหาของสัญญาประชาคมเป็นลายลักษณ์อักษรที่กว้างๆ ขั้นตอนและการปฏิบัติทางรัฐบาลยังมีเวลา ที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ใช้เวลาหนึ่งปีกว่าๆ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบ