"บุญสร้าง" นั่ง ถก คกก.ปฏิรูป ตร.นัดที่ 2 "ถกโครงสร้าง สตช.-หลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้าย" ไม่ทิ้งความคิดเห็น ปชช. ปัดใช้โมเดลโครงสร้างทหารมาปฏิรูปตำรวจ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 60 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ครั้งที่ 2 โดย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวก่อนการประชุมว่า ที่ประชุมจะหารือในเรื่องโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า จะปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง และหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน เนื่องจากคณะกรรมการฯ ไม่ได้มาจากตำรวจทุกคน จะไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดของโครงสร้าง ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน เพื่อให้คณะอนุกรรมการทั้ง 5 คณะที่ตั้งขึ้นสามารถทำงานได้ ส่วนเรื่องการทำงานของอนุกรรมการขณะนี้ พล.อ.บุญสร้าง ขอให้ไปหาคนมาก่อน และคณะกรรมการฯคนใดสนใจเป็นอนุกรรมการชุดไหนก็สามารถลงสมัครได้ด้วย ทั้งนี้ส่วนของการแต่งตั้งโยกย้ายจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำชับ ถ้าทำได้ในช่วงนี้ให้ทำเลย

เมื่อถามว่า เรื่องของโครงสร้างและหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย เบื้องต้นได้มีการวางแนวทางไว้อย่างไรบ้าง นายสมคิด กล่าวว่า ต้องคุยกันก่อน แต่มีอยู่ 2 กรอบใหญ่ คือ 1. เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดเรื่องการปฏิรูปไว้ เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายให้ยึดอาวุโส และ 2. จากที่นายกฯ ได้ให้แนวทางไว้ ซึ่งเราในฐานะฝ่ายปฏิบัติต้องไปดูให้สอดคล้องกับทั้ง 2 แนวทาง และจะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนของภาคประชาชนเราเองยินดีรับฟังความคิดเห็น ไม่มีปัญหาอะไร เพราะหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยการมีส่วนร่วมที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนขึ้นมา ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งความคิดเห็นของประชาชน

...

เมื่อถามว่า มองว่าการปฏิรูปตำรวจมีความยากตรงไหน นายสมคิด กล่าวว่า มีข้อเสนอมาหลายข้อเสนอ แต่ยังไม่มีการนำไปปฏิบัติที่เป็นจริง เช่น ข้อเสนอของ นายคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งข้อเสนอเหล่านั้นอาจไม่ตรงใจทุกคน แต่ตนเชื่อว่าหลายข้อเสนอเป็นข้อเสนอที่ดี วันนี้คนอาจยังไม่มั่นใจคณะกรรมการฯ จะเอาจริงเอาจัง แต่ยืนยันว่าองค์ประกอบของคนที่มาเป็นกรรมการมีความตั้งใจทำงาน และอยากให้งานสำเร็จ และสุดท้ายขึ้นอยู่กับฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายนโยบาย ว่า จะเอาแนวคิดในเรื่องตำรวจไปทำอย่างไรบ้าง เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จไม่มากก็น้อย ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าโครงสร้างปฏิรูปตำรวจเป็นโครงสร้างของทหารนั้น ตนเห็นว่าไม่เหมือน