"บังลี" พ่อค้าทุเรียน ย้ายจากปัตตานีมาตั้งถิ่นอยู่สุไหงโก-ลก รับซื้อทุเรียนจากจันทบุรี ขายส่งให้คนในพื้นที่และมาเลเซีย ทำรายได้สูงสุดอยู่ที่ 60,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะพันธุ์พวงมณี ที่ชาวมาเลย์นิยม...

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 60 นายอาลี ยะยือริง หรือ บังลี อายุ 68 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.สะดาวา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ในทุกปีช่วงหน้าทุเรียนจะย้ายถิ่นฐานอพยพครอบครัวมาเช่าบ้านในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อใช้เป็นสถานที่พักและสต๊อกทุเรียน ที่สั่งซื้อมาจาก จ.จันทบุรี แต่ละครั้งคิดเป็นเงิน 180,000 ถึง 200,000 บาท แล้วนำมาขายส่งและปลีกในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งขายส่งไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

นายอาลี ดำเนินชีวิตผันตัวเองเป็นพ่อค้าขายส่งทุเรียน มาเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งแต่ละครั้งที่สั่งทุเรียนมาขาย จะมีรายได้แต่ละครั้งประมาณ 50,000 ถึง 60,000 บาท จนเป็นที่รู้จักมักคุ้นของชาวสุไหงโก-ลก และชาวประเทศมาเลเซีย เมื่อเอ่ยถึงทุเรียนเมืองจันทบุรี ทุกคนต้องนึกถึง บังลี เพียงเจ้าเดียวที่รับประกันคุณภาพ สามารถนำทุเรียนมาเปลี่ยนได้หากมีคุณภาพด้อยหรือไม่ได้มาตรฐาน โดยในช่วงกลางคืนเกือบทุกวัน บังลี จะร่วมกับสมาชิกในครอบครัว จำนวน 6 ถึง 7 คน ช่วยกันขนทุเรียนลงจากรถยนต์กระบะ ซึ่งบรรทุกทุเรียนพันธุ์ต่างๆ มาจาก จ.จันทบุรี อาทิ พวงมณี กระดุม ชะนี ก้านยาว และหมอนทอง

...

ส่วนราคาทุเรียนที่นาย บังลี ขายส่งให้กับลูกค้าในแต่ละวันมีราคาต่างกัน ขึ้นอยู่กับราคารับซื้อในแต่ละเที่ยวที่ไม่แน่นอน โดยภาพรวม ทุเรียนชะนี และกระดุม รับซื้อกิโลกรัมละ 45 บาท ขายส่งกิโลกรัมละ 50 บาท ก้านยาวซื้อ 55 ขายส่ง 65 บาท พวงมณีซื้อ 55 ขายส่ง 65 บาทและกระดุมซื้อ 45 ขายส่ง 60 บาท ส่วนทุเรียนที่เหลือจากพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ บังลี ก็จะนำขึ้นแผงตั้งขายหน้าบ้านเช่า ในภาพรวมตั้งแต่ราคา 80 ถึง 100 บาท โดยเฉพาะในปีนี้การเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จาก จ.จันทบุรี มาขายในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก

การขายทุเรียนปีนี้เป็นการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากตรงกับในช่วงเดือนรอมฏอน หรือ ถือศีลอด หรือ ปอซอ ของชาวไทยมุสลิม ทำให้การขายส่งทุเรียนข้ามแดนไปยังรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่าตัว โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์พวงมณี เป็นพันธุ์ทุเรียนที่ชาวมาเลเซียนิยมบริโภค แต่ละเที่ยวมีจำนวนเท่าใดพ่อค้าชาวมาเลเซียจะเหมาซื้อหมด โดยพ่อค้าชาวมาเลเซียจะรับซื้อจาก บังลี ในราคากิโลกรัมละ 65 บาท แล้วนำไปขายต่อในมาเลเซีย คิดเป็นเงินไทย กิโลกรัมละ 120 บาท หรือ ได้กำไรเกือบ 2 เท่าตัวต่อ 1 กิโลกรัม.