ภาพ ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลฯ ประสบความสำเร็จใช้แท่งปะการังเทียม ทรงโดม ให้ตัวอ่อนเกาะทดแทนพื้นที่ที่เคยมีปะการัง ที่เกาะไม้ท่อน เชื่อไม่เกิน 5 ปี ถ้าไม่มีการฟอกขาว จะมีปะการังธรรมชาติลงเกาะ เต็มพื้นที่ 3 ไร่อย่างสมบูรณ์ ...
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ปะการังที่ดำเนินการฟื้นฟู โดยวิธีการนำไปติดไว้บนแท่งปะการังเทียม ที่เกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2559 ว่า หลังจากการลงดำดูพร้อมเก็บข้อมูล พบว่าปะการังชนิดต่างๆ ที่นำไปปลูกได้มีการเติบโตและเคลือบติดบนปะการังเทียมเกือบหมดแล้ว และขณะนี้ยังพบตัวอ่อนลงเกาะบนปะการังเทียมที่ทำเป็นฐานให้ลงเกาะอีกจำนวนมาก บางแท่งเกือบ 300 โคโลนี เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ถ้าไม่มีการฟอกขาวที่เกาะไม้ท่อน จะมีปะการังธรรมชาติลงเกาะบนปะการังเทียมในพื้นที่ 3 ไร่แบบสมบูรณ์ และคาดว่า ถ้าตัวอ่อนขยายตัวห่อหุ้มเสาหมดแล้วภายในระยะเวลา 10 ปี ประเทศไทยจะมีแนวปะการังที่รูปร่างประหลาดและสวยงาม ซึ่งนักดำน้ำจากทั่วโลกนี้ต้องมาดูงานที่นี่
...
สำหรับในวันที่ 25 มี.ค.จะนำอาสาสมัครนักดำน้ำสำรวจที่บริเวณอ่าวปะตก เกาะราชา อ.เมือง จ.ภูเก็ตอีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดที่เคยมีการเพาะปลูกปะการังอ่อน บนแท่งปะการังเทียมไว้กว่า 500 ชิ้นว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้จะไปเก็บเศษปะการังที่หักและถูกทำลายมาไว้ติดบนแท่งปะการังเทียมด้วย
นายไพทูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแท่งปะการังเทียม ที่เกาะไม้ท่อนและเกาะราชา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นั้น มีจำนวนมาก และยังมีหลายแบบ ทั้งแบบแท่งสี่เหลี่ยมและแบบทรงโดม ซึ่งทรงโดมมีขนาดความสูง 1.5 เมตร ฐานกว้าง 1.8 เมตร การใช้แบบทรงโดม นิยมใช้เพื่อการลงเกาะของตัวอ่อน ทดแทนพื้นที่ที่เป็นทราย หรือเคยมีปะการังมาก่อน โดยเป็นการทำครั้งแรกของประเทศไทยและอาจเป็นครั้งแรกของโลกด้วย โดยที่เกาะไม้ท่อนและเกาะราชาใหญ่เป็นปะการังเทียม เพื่อวัตถุประสงค์ฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติสำหรับปรับปรุงสภาพพื้นทะเลให้มีความแข็งคงทน ให้ตัวอ่อนลงเกาะที่ต้องสูงจากพื้น เพราะไม่ให้ฝุ่นทรายทำลายตัวอ่อนที่ติด