(ภาพ : AFP)

ชาวใต้เตรียมรับมือมรสุมระลอกใหม่ซัด 10 จังหวัดสั่งเร่งระบายน้ำด่วน ส่วนชาวประมงเมืองคอนร่วมแรงใจกับทหารนำเรือประมงพื้นบ้านผันนํ้าลงทะเล ที่ รพ.บางสะพาน น้ำลดเร่งฉีดล้างทำความสะอาด ด้านเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานระดมกำลังหลังน้ำลดซ่อมบ้านเรือน ถนนและรางรถไฟ พร้อมเตือนป้องกันโรคระบาด ขณะที่นายกฯ เตรียมจัดงานระดมเงินช่วยชาวใต้

น้ำท่วมใต้ระดับน้ำเริ่มลดแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งเข้าเคลียร์พื้นที่พร้อมเยียวยาผู้ประสบภัยและป้องกันโรคระบาด โดยเมื่อเช้าวันที่ 12 ม.ค. ที่ จ.พัทลุง ระดับน้ำเริ่มลดลงในพื้นที่ อ.ควนขนุน อ.เมืองพัทลุง อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และ อ.ปากพะยูน แต่ยังคงมีสภาพน้ำท่วมขังบ้านเรือนและเส้นทางในหมู่บ้านอยู่อีกหลายจุด ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย ด้านนายวันชัย คงเกษม ผวจ.พัทลุง และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในท้องที่หมู่ 3, 4, 5 และ 10 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน เน้นย้ำชาวบ้านให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องโรคที่มากับน้ำโดยเฉพาะโรคฉี่หนู ขณะเดียวกันสั่งการให้ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ล่าสุด น้ำท่วมขังสูง 1-2 เมตรในพื้นที่ ต.ทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน ต.ฝาละมี ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน ต.ชัยบุรี ต.ลำปํา และชุมชนลำปําในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง

ควายจมน้ำตายเริ่มขาดหญ้า

นายสมโชค คงมี อายุ 56 ปี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า เลี้ยงควาย 80 ตัว ช่วงน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.จนถึงปัจจุบัน ควายตายไปแล้ว 20 ตัว เพราะคอกมีน้ำท่วมสูงทำให้ควายต้องแช่อยู่ในน้ำติดต่อกันหลายวัน ขณะนี้กลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงควายในพื้นที่ ต.ทะเลน้อย และ ต.พนางตุง เดือดร้อนอย่างหนัก ควายต้องแช่อยู่ในน้ำและเริ่มขาดหญ้าให้ควายกิน บวกกับความอ่อนแอของร่างกายทำให้ควายทยอยตายอย่างต่อเนื่อง วอนขอหน่วยงานรัฐเข้าช่วยเหลือด้วย

...

ปิดอุทยานฯชั่วคราวน้ำป่าซัด

สถานการณ์น้ำป่าหลากจากเทือกเขาพนมเบญจา ส่งผลให้หลายพื้นที่ของจังหวัดกระบี่น้ำท่วม ที่สะพานข้ามคลองถนนสายทับปริก-ห้วยโต้ หมู่ 4 ต.ทับปริก อ.เมืองกระบี่ ทางเข้าอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ถูกน้ำป่าซัดจนคอสะพานขาดยาวกว่า 10 เมตร ชาวบ้านสร้างสะพานไม้หมากขึ้นชั่วคราวเพื่อใช้สัญจร เจ้าหน้าที่หยุดการท่องเที่ยวชั่วคราว ขณะนี้ทหารจาก ร.15 พัน. 1 และหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเก็บกวาดบ้านที่ถูกดินโคลนซัดถล่มแล้ว ด้าน น.ส.วันดี น่าเยี่ยม อายุ 35 ปี ชาวบ้านใน ต.ทับปริก เปิดเผยว่า น้ำป่าไหลเชี่ยวซัดบ้านพังระดับน้ำสูง 2.5 เมตร น้ำท่วมจนถึงหลังคาบ้าน ทรัพย์สินเสียหายหมดเหลือเพียงเสื้อผ้าไม่กี่ชุด ขณะนี้ครอบครัวย้ายไปอยู่บ้านญาติ เมื่อกลับไปดูที่บ้านเห็นแมวเลี้ยงไว้ 2 ตัวหนีน้ำรอดชีวิตมาได้ ตนสงสารจึงกลับไปให้อาหารแมวทุกวัน

ดินโคลนถล่มบ้านพังยับ

ด้านนายสุริยันต์ ณรงค์กูล นายอำเภอเมืองกระบี่ กล่าวว่า พื้นที่หมู่ 4 บ้านห้วยโต้ และบ้านหน้าผึ้ง ทางเข้าเส้นหลักไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ถนนในหมู่บ้านยังขาดอีก 2 จุด ดินโคลนไหลทับบ้านพัง 30 หลัง ระดมกำลังเจ้าหน้าที่นำถุงยังชีพไปมอบให้ชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยกันทำความสะอาดซ่อมแซมบ้าน แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะฟื้นฟูเสร็จตรวจสอบชาวบ้านเดือดร้อน 2,000 ครอบครัว ด้านนายอรุณ สิงห์อินทร์ นายอำเภอเขาพนม จ.กระบี่ เปิดเผยว่า หลังเกิดฝนตกหนักทำให้ดินถล่มและเกิดน้ำป่าไหลหลาก ขณะนี้น้ำลดแล้วเร่งทำความสะอาดล้างโคลนตามบ้านเรือนและถนน เกิดความเสียหาย 1,300 ครัวเรือน ชาวบ้านเดือดร้อน 5,000 คน

ซ่อมสะพานชั่วคราวบรรเทาทุกข์

ที่บริเวณคลองฉวาง หมู่ 6 ต.เพิ่มพูนทรัพย์ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านและผู้นำส่วนท้องถิ่น ช่วยกันสร้างสะพานไม้ขนาดเล็กในคลองฉวาง แทนสะพานเก่าที่ถูกน้ำป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น บนเทือกเขาหลวงไหลหลากซัดเสาสะพานพังเสียหายเป็นทางยาว 20 เมตร กว้าง 6 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้เส้นทางอ้อมมีระยะทางไกลกว่า 15 กิโลเมตร ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อน 500 ครัวเรือน ส่วนที่หมู่ 7 ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน ชาวบ้านเร่งเสริมชั้นยกสิ่งของให้มีระดับสูงจากเดิม เนื่องจากมวลน้ำเริ่มทยอยเข้าพื้นที่ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ระดับน้ำสูง 50-170 เซนติเมตร ชาวบ้าน 100 ครัวเรือนอพยพอยู่ที่สูงและมีบางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในบ้านบนชั้น 2 และบางส่วนเตรียมความพร้อมสร้างแพไว้สำหรับอยู่อาศัย ขณะที่ชาวบ้านหลายรายเร่งขนย้ายสิ่งของออกจากพื้นที่แล้ว

เรือประมงรวมตัวช่วยผันน้ำ

นายเทอดศักดิ์ ลักษณะหุต รองผู้อำนวยการและประสานงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำท่วมขังทั้งหมดประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้วันละ 125.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้กองทัพเรือนำเรือผลักดันน้ำ เร่งดันน้ำที่ประตูระบายน้ำชะอวด-ปากแพรก และประตูระบายน้ำฉุกเฉิน อ.ปากพนัง คาดว่าใช้เวลา 15 วันทุกพื้นที่จะกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ที่บริเวณสะพานข้ามคลองระบายน้ำฉุกเฉิน ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง มีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านใน อ.ปากพนัง พร้อมเรือประมงพื้นบ้านกว่า 100 ลำ รวมตัวจอดเรือเรียงแถวเป็นแนวเดียวกัน เช่นเดียวกับเครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือ พร้อมติดเครื่องยนต์เรือประมงเพื่อช่วยผลักดันน้ำออกทะเลอีกทางหนึ่ง ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เสนอโปรเจกต์ขุดคลองข้างถนน

นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า น้ำยังคงท่วมอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ประกอบด้วย อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร อ.ปากพนัง อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ สาเหตุทำให้น้ำท่วมตัวเมืองนครศรีธรรมราชและชุมชนเมือง เกิดจากสิ่งกีดขวางทางน้ำประกอบกับศักยภาพของคลองท่าดี และคลองหยวด เป็นเส้นทางระบายน้ำมีปัญหาขยะขวางทางน้ำ ขณะนี้กรมชลประทานเตรียมแผนงานแก้ปัญหาระยะยาว โดยเสนอโครงการสร้างถนนชลประทานอ้อมเมืองควบคู่ไปกับคลองชลประทานขนาดใหญ่ แบบเดียวกับที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่

เรือผลักดันน้ำ 32 ลำระบายลงทะเล

ขณะที่ทหารจากกรมอู่ทหารเรือ เจ้าหน้าที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) จ.สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 32 ลำ ที่บริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำตาปี 3 จุด ประกอบด้วยใต้สะพานจุลจอมเกล้าเขตเทศบาลเมืองท่าข้าม 16 ลำ ใต้สะพานคลองพุนพิน 10 ลำ และสะพานคลองกล้วย 6 ลำ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำตาปีให้ลงไปปากอ่าวบ้านดอนออกสู่ทะเล ด้านนายอนุวัตร รจิตานนท์ นายกเทศบาลเมืองท่าข้าม เปิดเผยว่า การผลักดันน้ำในครั้งนี้จะช่วยป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองท่าข้าม 8,000 ครัวเรือน น้ำจากตอนบนไหลลงตอนล่างอย่างต่อเนื่อง บ้านริมฝั่งแม่น้ำตาปีในพื้นที่ 7 อำเภอยังมีน้ำท่วมขัง

...

ปศุสัตว์เผยสัตว์เลี้ยงตายเกลื่อน

นายเด่นพันธุ์ พันธุ์เล่ง นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยผลกระทบด้านปศุสัตว์ ว่า จ.สุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบด้านปศุสัตว์ 12 อำเภอ 10 ตำบล 466 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 12,325 ราย สัตว์เลี้ยง 457,597 ตัว ได้แก่ โค กระบือ สุกร แพะ ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ดไข่ เป็ดเนื้อ เป็นต้น ขณะที่แปลงหญ้าได้รับความเสียหาย 94 ไร่ ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปแล้วใน 7 อำเภอ 52 ตำบล 341 หมู่บ้าน เกษตรกร 10,027 ราย จำนวนสัตว์ที่อพยพ 342,604 ตัว แจกเสบียงสัตว์ 16,800 กิโลกรัม สนับสนุนเวชภัณฑ์ 700 ชุด รักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพสัตว์ 4,251 ตัว จากการสำรวจล่าสุดพบสัตว์ตายหรือสูญหาย ประกอบด้วย โค 96 ตัว กระบือ 12 ตัว สุกร 555 ตัว ไก่พื้นเมือง 1,248 ตัว ไก่เนื้อ 51,500 ตัว และเป็ดไข่ 452 ตัว

รพ.บางสะพานน้ำลดเร่งเปิด

ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น้ำยังท่วมในพื้นที่ลุ่ม สะพาน ถนนในหมู่บ้านหลายสายชำรุดเสียหาย ส่วนที่โรงพยาบาลบางสะพาน เจ้าหน้าที่ระดมกำลังเร่งฟื้นฟู ด้าน นพ.เชิดชาย ชยวัฑโฒ ผอ.โรงพยาบาลบางสะพาน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ร่วมกันฟื้นฟูโรงพยาบาลด้วยการสูบน้ำที่ท่วมขัง ขณะนี้บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลระดับน้ำแห้งแล้ว ภายในอาคารผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเร่งฉีดล้างทำความสะอาด ทยอยขนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์กลับเข้าที่ ส่วนระบบไฟฟ้าในอาคารผู้ป่วยนอกสามารถใช้การได้แล้ว แต่ระบบน้ำประปายังไม่สามารถใช้ได้ เจ้าหน้าที่ต้องเลื่อนการเปิดให้บริการเป็นวันที่ 13 ม.ค. ส่วนอาคารผู้ป่วยในคาดว่าต้องใช้เวลากู้ระบบประมาณ 2 สัปดาห์ ในช่วงนี้ขอให้ประชาชนไปใช้บริการรักษาจากทีมแพทย์สนามรวม 6 จุด ประกอบด้วย โรงเรียนบางสะพานวิทยา รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลร่อนทอง วัดธงชัยธรรมจักร บ้านกรูด อบต.กำเนิดนพคุณ อบต.พงษ์ประสาท และ อบต.ทองมงคล

...

ท่อแตกน้ำประปายังใช้ไม่ได้

นายศักรินทร์ ทุมเสน นายอำเภอบางสะพาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 7 ตำบลคลี่คลายลงแล้ว สำหรับพื้นที่ ต.ร่อนทอง หลังจากสะพานชำรุดเสียหาย สั่งการให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เร่งทำสะพานลำลองเพื่อให้รถเล็กสามารถใช้เส้นทาง ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ห่างไกลทุกจุด เจ้าหน้าที่จัดอาหารและน้ำดื่มมอบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำไปแจกจ่าย สำหรับการใช้น้ำประปายังมีปัญหาท่อน้ำแตกต้องเร่งแก้ไข ขณะที่กระแสไฟฟ้าสามารถใช้การได้ตามปกติ ส่วนสะพานวังยาวและสะพานหนองหญ้าปล่อง อ.บางสะพาน ถูกน้ำซัดสะพานพังทำให้ปิดการจราจรขาขึ้น-ลงใต้ เจ้าหน้าที่นำสะพานเบลีย์ใช้เป็นทางผ่านชั่วคราว การจราจรรถชะลอตัว

อาชีวะ “ซ่อมได้” ช่วยชาวใต้

ที่บริเวณวัดบุญนารอบ อ.เมืองนครศรีธรรมราช นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เดินทางมาเป็นประธานเปิดกิจกรรม “อาชีวะบริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้” โดยสำนักงานคณะอาชีวศึกษาจัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน 200 แห่ง ออกให้บริการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ โดยให้บริการซ่อมเครื่องไฟฟ้าทุกชนิดที่ถูกน้ำท่วมซ่อมรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น

เร่งซ่อมสะพานช่วงทุ่งสง–พัทลุง

นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้ว่า เร่งดำเนินการซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าตลอดแนวเส้นทางรถไฟสายใต้ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมรวม 55 จุด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการในจุดที่น้ำลดเกือบครบทั้งหมด ล่าสุด ดำเนินการซ่อมแซมทางช่วงระหว่างสถานีบางสะพานใหญ่-ชะม่วงแล้ว เมื่อเปิดให้บริการก็สามารถเดินรถไปถึงสถานีชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชได้เลย ส่วนช่วง อ.ทุ่งสง-พัทลุง ยังต้องซ่อมแซมสะพานขาด 2 แห่ง คงจะใช้เวลา 3-4 วัน จะแล้วเสร็จ

...

ถนนน้ำท่วม 123 สายทาง 12 จังหวัด

ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ถนนทางหลวงชนบทที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ ล่าสุด สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 4 (เพชรบุรี) นำเครื่องจักรกลพร้อมเจ้าหน้าที่ติดตั้งสะพานสำเร็จรูป (สะพานเบลีย์) บนถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1029 แยกทางหลวงหมายเลข 4 (กม.358+700)-วัดทางสาย อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ใช้สัญจรดำเนินการเสร็จแล้ว สำหรับภาพรวมถนนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมี 123 สายทาง ใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้แบ่งเป็นถนนที่สัญจรผ่านได้ 40 สายทาง สัญจรผ่านไม่ได้ 20 สายทาง และเข้าสู่ภาวะปกติ 63 สายทาง

อุตุฯ เตือนรับมือมรสุมระลอกใหม่

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 16-18 ม.ค. ภาคใต้จะเกิดลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปกคลุมตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.นราธิวาส ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและปริมาณฝนที่ตกสะสมอีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปริมาณน้ำฝนตกสะสมเฉลี่ย 30-90 มิลลิเมตร ดังนั้นในช่วงนี้ควรต้องเร่งระบายน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ เพราะปริมาณน้ำฝนตกลงมาสมทบกับน้ำที่มีอยู่แล้วทำให้ท่วมหนักขึ้นอีก ในส่วนภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 14-18 ม.ค.จะมีอากาศเย็นลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีอุณหภูมิลดลงเช่นกัน ประกอบกับมีฝนเกิดขึ้นในระยะนี้บางพื้นที่

“มท.1” ประสาน กทม.รับมือฝน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่า หลายจังหวัดสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ต้องเฝ้าระวังต่อไป จนถึงขนาดนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้และพบน้ำประปาหลายจุดเสียหายต้องเร่งฟื้นฟู เมื่อถามถึงการประสาน กทม.เตรียมรับปริมาณน้ำระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ประสานกับทาง กทม.ต้องดูระบบระบายน้ำ เครื่องระบายน้ำต้องใช้งานได้ตลอด รวมทั้งให้ดูเรื่องของขยะสิ่งปฏิกูล ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัวไว้ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าอีกสองสามวันจะมีฝนมาอีก ถ้ามีฝนตกจนน้ำท่วมขังเกิน 10 มิลลิเมตร จะมีปัญหาการจราจรแน่นอน ประสานให้ กทม.เตรียมรับมือตรงนี้ไว้ อีกทั้งได้สั่งการปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงทุกจังหวัดเตรียมการรับมือฝนรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเก็บข้าวของไว้ที่สูง เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ประสบภัยหลังน้ำลด รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย แต่ละจังหวัดมีงบประมาณสามารถนำออกมาช่วยเหลือได้ทันที

ปภ.เผยยอดตาย 36 ราย