เครดิตภาพ จากศูนย์วิจัยและพัฒนา ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน
สบทช.6 เตรียมเอาผิดโรงแรมดังริมหาดลายิวางทุ่นลอยน้ำจอดเรือยื่นลงไปในทะเล 200 เมตร ทำปะการังเสียหายกว่า 600 ตารางเมตร เนื่องจากช่วงที่น้ำลงทำให้ทุ่นจมลงทับปะการัง และช่วงที่น้ำขึ้นนั้น ฐานยึดทุ่นจะไปขูดปะการังเสียหาย...
จากกรณีที่มีโซเชียลมีเดียต่างๆใน จ.ภูเก็ต เช่น กลุ่มไลน์และเฟซบุ๊กได้มีการเผยเผยแพร่ ภาพทุ่นลอยน้ำสำหรับจอดเรือที่มีความ ยาวนับร้อยเมตรยื่นออกไปกลางทะเล บริเวณชายหาดลายิ หมู่ 6 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมีประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่าการวางทุ่นดังกล่าวได้มีการขออนุญาต ถูกต้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่ เนื่องจากอาจกระทบกับแนวปะการังในบริเวณดังกล่าว จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าทุ่นลอยน้ำดังกล่าวเป็นของโรงแรมแห่งหนึ่งใกล้ บริเวณชายหาดดังกล่าว ซึ่งวางไว้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาทางเรือในช่วง ฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2559 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน นำโดย ดร.นลินี ทองแถม หัวหน้ากลุ่มนิเวศทางทะเลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้สำรวจทุ่นดังกล่าวกรณีอาจ มีผลกระทบและความเสียหายเกิดขึ้นกับปะการังหรือไม่นั้น
ดร.นลินี หัวหน้าทีมสำรวจกล่าวว่า เนื่องจากทุ่นลอยน้ำสำหรับจอดเรือดังกล่าวมีความยาวกว่า 190 เมตรยื่นออกไปในทะเล ถือว่ามีความยาวพอสมควร พอถึงช่วงที่น้ำลงสุด ทุ่นจะจมลงและได้ทับลงบนแนวปะการังที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวเสียหาย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก แนวซากปะการัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายหินอยู่ติดแนวชายหาด ช่วงที่ 2 ถัดไปจากแนวซากปะการัง พบเป็นปะการังโขด ซึ่งยังพบว่ามีการเจริญเติบโตอยู่ และช่วงที่ 3 ช่วงปลายของทุ่น พบเป็นแนวปะการังเขากวาง ซึ่งบางส่วนยังมีความสมบูรณ์ โดยขณะสำรวจพบว่าเมื่อถึงช่วงที่น้ำลงทำให้ทุ่นจมลงทับปะการังเสียหาย ขณะเดียวกันในช่วงที่น้ำขึ้นนั้น ฐานยึดทุ่นที่อยู่ด้านล่างที่มีเชือกมัดต่อกันนั้น เมื่อมีคลื่นลมแรงจะเกิดการเคลื่อนที่ ทำให้ไปขูดกับปะการังจนได้รับเสียหายอีกด้วย
...
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมินความเสียหาย เฉพาะบริเวณใต้พื้นทุ่น พบมีพื้นที่ความเสียหายประมาณ 600 ตารางเมตร ถือว่าเสียหายมากพอสมควร ถึงแม้บางจุดที่เป็นซากปะการังหรือปะการังที่ไม่มีชีวิต มองคล้ายโขดหิน แต่หากทำลายถือเป็นความผิด เพราะถือเป็นทรัพยากรทางทะเลด้วยเช่นกัน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเร่งทำข้อมูลสรุปส่งให้ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้าน นายสุชาติ รัตนเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สบทช.6 กล่าวว่า ขณะนี้ สบทช.6 กำลังรอข้อมูลสรุปความเสียหายจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่งทะเลอันดามันก่อนจะทำการพิจารณา ซึ่งอำนาจตามความในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 และมาตรา 27แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าเข้าข่ายใดบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายตามข้อที่ 4 ห้ามกระทำการก่อสร้าง ยึดถือ ครอบครอง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะต้องสั่งระงับการวางทุ่นลอยน้ำ ก่อนแจ้งไปยังสำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต เพื่อให้ถอนใบอนุญาต ในส่วนของปะการังที่เสียหายจะต้องนั้นจะต้องดำเนินการตามมาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 26 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535.