ย้อนรอย "11 ปี กับเหตุการณ์สึนามิถล่ม" 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน ทำคนไทยพบกับความสูญเสียมหาศาล ไม่ทันตั้งตัว ทั้งชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และนักท่องเที่ยว ขณะหลายฝ่ายจัดงานรำลึก ไว้อาลัยแด่ผู้สูญเสียจากภัยพิบัติ...
หลายเหตุการณ์ผ่านมาแล้วเป็นสิ่งดีที่น่าจดจำ จึงมีการเฉลิมฉลองทุกปีที่เหตุการณ์สำคัญนั้นเวียนมาถึง แต่อีกเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ชาวไทย โดยเฉพาะ 6 จังหวัดภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน ไม่มีวันลืมเลือน แต่ต้องจดจำไว้เป็นเครื่องเตือนใจ นั่นคือ มหาธรณีพิบัติภัย "สึนามิ" ที่คร่าชีวิตคนไทย และชาวต่างชาติไปไม่น้อยกว่าสองแสนชีวิตนั่นเอง
ย้อนไปเมื่อช่วงเช้า วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 เป็นวันที่อากาศแจ่มใสตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ทะเลเรียบสงบ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศที่เดินทางมาพักผ่อนบนชายหาดที่สวยงามริมชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ หาดในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพีดอน อ่าวนางทะเลน้ำใสแห่งจังหวัดกระบี่ เขาหลักแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพังงาที่มีชื่อไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวที่ไปยังเกาะต่างๆ ที่สวยงามอีกจำนวนมาก
...
เช้าวันนั้นสถานีโทรทัศน์ทุกช่องจะมีการรายงานข่าว ถึงข่าวการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลเหนือเกาะสุมาตรา มีความรุนแรงมากถึง 8.9 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 08.00 น. ซึ่งแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ถึงจังหวัดภูเก็ต และในอีกหลายจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย แต่ก็ไม่มีใครนึกถึงว่าสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นตามมาคือ “สึนามิ” คงเป็นเพราะมันไม่เคยมีการบันทึกในประวัติศาสตร์โลกมาก่อนว่าเคยเกิดในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาเท่าที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่มักจะเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก
แม้ก่อนถึงวินาทีคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย จะมีสัญญาณทางธรรมชาติบ่งบอกอยู่บ้าง เช่น น้ำทะเลลดระดับลงผิดปกติ และปลาขนาดใหญ่เกยตื้น แต่ด้วยหลายฝ่าย รวมทั้งผู้ประสบเหตุเองไม่มีประสบการณ์ ประกอบกับไม่มีใครคาดถึง และไม่มีเครื่องมือเตือนภัย ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินตามมามหาศาล เฉพาะในไทยมีผู้เสียชีวิตยืนยันประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกไม่น้อย เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังทำให้ คุณพุ่ม เจนเซน พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโอรสใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ถึงแก่อนิจกรรมด้วย อีกทั้ง ยังมีความเสียหายในด้านทรัพย์สิน ได้แก่ บ้านเรือนของราษฎร โรงแรม บังกะโล เกสต์เฮาส์ ร้านค้า ร้านอาหาร ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
ในกรณีของประเทศไทย พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพราะมีการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัด พังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุด
...
สำหรับความเสียหายด้านเศรษฐกิจในไทย ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด มีแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหายมาก จำนวน 8 แห่ง คือ ชายทะเลเขาหลักในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด เกาะสิมิลัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา, หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, หาดกะรน ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, หาดกมลา ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต, หาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต, เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และบ้านหาดทรายขาว กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
...
นับได้ถึงวันนี้ ก็ครบรอบ 11 ปีแล้ว สำหรับเหตุการณ์ สึนามิ ในวันนี้ที่อนุสรณ์สถานรำลึกสึนามิ และศิลารำลึกผู้เสียชีวิตจากสึนามิทะเลอันดามัน ( Kamala Memorial Stone ) หลังโรงแรมซันวิงรีสอร์ต หาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต หลายภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ เริ่มทำความสะอาดและตกแต่งสถานที่ เตรียมจัดพิธีรำลึก 11 ปีสึนามิ ซึ่งชายหาดกมลา ในทุกๆ ปีจะมีญาติผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวญี่ปุ่นในนามสมาคมผู้สูงอายุญี่ปุ่น ( PLAJA ) และประเทศอื่นๆ มาร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา และร่วมวางดอกไม้แสดงความอาลัยแก่ผู้เสียชีวิต ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีญาติผู้เสียชีวิตเดินทางมาร่วมเป็นจำนวนมากในช่วงเช้า
ขณะที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต จะมีพิธีทำบุญตักบาตร และสวดมนต์ของศาสนาพุทธ ส่วนที่บริเวณสวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง อ.กะทู้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต หรือ ปภ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมและนิทรรศการ ประกอบด้วย การอ่านสารนายกรัฐมนตรี และพิธีไว้อาลัยให้ผู้สูญเสียชีวิตจากภัยพิบัติ-กิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างความตระหนัก จิตสำนึกด้านความปลอดภัย และจัดนิทรรศการการเรียนรู้ การรับมือสาธารณภัย โดยเน้นหนักที่ภัยจากคลื่นสึนามิ และแผ่นดินไหว
...
นอกจากนี้ ยังมีท้องถิ่นต่างๆ ที่มีการประกอบพิธีทางศาสนาในแต่ละพื้นที่ อาทิ บริเวณกำแพงรำลึกสึนามิไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง และบริเวณหาดบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่ำที่บริเวณสวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง อ.กะทู้ จะมีการประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ และร่วมวางดอกไม้อาลัยพร้อมจุดเทียนรำลึกสึนามิบริเวณชายหาด "ไลฟ์อัพ"
และแม้เวลาจะผ่านไปนานอีกกี่ปี ความทรงจำ และความสูญเสียนี้ คงไม่เลือนหายไปได้เลย.