ฮือฮา พบพะยูนลูกแฝดตัวแรกที่ทะเลกระบี่ ม.เกษตรฯ เตรียมวิจัยปลูกหญ้าทะเล ดึงเยาวชนและชาวประมงพื้นบ้านร่วมอนุรักษ์ก่อนสูญพันธุ์จากทะเลไทย...
วันที่ 27 มกราคม 2556 นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำศูนย์วิทยบริการ ม.เกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อปี 2555 ทาง ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำวิจัย ขึ้นบินสำรวจพะยูนในทะเลกระบี่ บริเวณตำบลเกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งจากการบินสำรวจเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2555 ได้ค้นพบพะยูนเพศเมีย และมีลูกแฝด 2 ตัวว่ายน้ำเคียงข้างกัน ซึ่งถือเป็นตัวแรกของพะยูนที่ออกลูกแฝดและได้ค้นพบในทะเลกระบี่ เพราะปกติพะยูนจะมีลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น
นายปิยะวัฒน์ กล่าวอีกว่า บริเวณเกาะศรีบอยา ซึ่งมีเกาะน้อยใหญ่หลายเกาะ เป็นที่อยู่ของพะยูน ที่เป็นสัตว์สงวนที่สำคัญ โดยจากการบินสำรวจนั้นได้พบพะยูนทั้งสิ้น 16 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ ที่จะพบแค่ 4-5 ตัวเท่านั้น บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลกระบี่ ซึ่งหลังจากนี้ทาง ม.เกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ ก็จะเดินหน้าในการอนุรักษ์พะยูน โดยจะร่วมกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และชุมชน เยาวชน รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านในการปลูกหญ้าทะเล ใบมะกรูด ตามโครงการบ้านปลา เพื่อเพิ่มพื้นที่ของแหล่งหญ้าทะเลให้มากขึ้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายเดือนนี้
หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำศูนย์ วิทยบริการ ม.เกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดกระบี่ มีแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 10,000 ไร่ ขณะที่ จ.ตรัง ซึ่งมีพื้นที่ติดกันมีแหล่งหญ้าทะเลอยู่ถึง 2 หมื่นกว่าไร่ และมีพะยูนกว่า 200 ตัว ดังนั้น หากได้มีการเพิ่มพื้นที่แหล่งหากินของพะยูนก็จะทำให้มีพะยูนเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือจิตสำนึกของชาวประมง เพราะขณะนี้มีสาเหตุที่ทำให้พะยูนลดจำนวนลง หรือความเสี่ยงต่อพะยูนก็คือเครื่องมือประมง เช่น อวน และเบ็ดราว หรือเบ็ดที่มีความคมและมีขนาดใหญ่ ก็จะทำให้พะยูนตายได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอนุรักษ์ ก็เชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ก็จะอยู่คู่กระบี่ต่อไป.
...