โลมาปากขวดเกยตื้นหาดชุมพร รอบ 10 ปี พบป่วยหนัก ไม่มีแรงว่ายลงทะเลลึก จนท.ศูนย์วิจัยฯ เร่งให้ยาปฏิชีวนะฟื้นฟูร่างกาย คาด 1 สัปดาห์ รู้สาเหตุอาการป่วยที่แน่ชัด...
เมื่อเวลา 04.30 น. วันที่ 11 ก.ย. 55 นายอำพล หรือ หรั่ง ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบโลมาเกยตื้นอยู่ที่หน้าอ่าวบ้านท้องครก จึงได้ระดมชาวบ้านจำนวน 10 นาย นำเรือประมงพื้นบ้านออกไปช่วยเหลือ ถึงจุดที่พบซึ่งอยู่ห่างจากสะพานท่าเทียบเรือข้ามฟากระหว่างชายฝั่งกับหมู่บ้านเกาะพิทักษ์ ประมาณ 200 เมตร พบโลมา ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร ติดอยู่ในร่องน้ำ จึงช่วยกันจับดันออกไปสู่ทะเลลึก แต่เมื่อชาวบ้านกลับขึ้นมา เจ้าโลมาตัวดังกล่าว ก็ว่ายกลับเข้าไปเกยตื้นอีก เป็นอยู่อย่างนี้หลายรอบ นายอำพลจึงได้โทรศัพท์แจ้งไปยังศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร ให้ส่งเจ้าหน้าที่ประมงไปช่วยเหลือ เมื่อทางศูนยวิจัยฯ ได้รับแจ้งจึงส่งเจ้าหน้าที่ประมงเดินทางไปช่วยนำโลมาตัวดังกล่าวกลับไปยังศูนย์ เพื่อทำการตรวจสอบและหาสาเหตุของการที่โลมาเข้ามาเกยตื้นในครั้งนี้
...
น.ส.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง สัตวแพทย์หญิงประจำศูนย์วิจัยฯ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ พบว่าโลมาตัวนี้เป็นโลมาพันธุ์ปากขวด เพศเมีย อายุอยู่ระหว่าง 30-40 ปี วัดความยาวจากหัวถึงปลายหางยาว 2.24 เมตร น้ำหนัก 102 กก. ดูจากสภาพภายนอกไม่พบบาดแผลถูกทำร้ายแต่อย่างใด ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงได้ทำการเจาะเลือด และใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ตรวจภายในช่องท้อง ซึ่งจากการตรวจเลือดพบเลือดข้นมากกว่าปกติ และยังพบว่าในช่องท้องมีก้อนเนื้องอกอยู่ก้อนหนึ่ง ส่วนในช่องปาก พบว่าเหลือฟันอยู่เพียงซี่เดียว จึงสามารถระบุชี้ชัดลงไปได้ว่า โลมาตัวนี้เป็นโลมาวัยแก่ ที่เกิดอาการป่วยหนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีกำลังว่ายน้ำฝ่ากระแสน้ำและคลื่นลมออกสู่ทะเลน้ำลึกได้
สัตวแพทย์หญิงประจำศูนย์ เปิดเผยอีกว่า เบื้องต้นทางทีมสัตวแพทย์ ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง และยาแก้อักเสบ รวมทั้งวิตามินเสริม เพื่อฟื้นฟูร่างกายของโลมาตัวนี้ไปพลางก่อน โดยจะนำโลมาผูกชูชีพแขวนให้ลอยตัวอยู่ในบ่อพักชั่วคราวของศูนย์วิจัยฯ เพื่อรอทีมคณะสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพฯ ที่จะเดินทางไปตรวจสอบและทำการรักษาโลมาตัวนี้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการรักษา สำหรับโลมาพันธุ์ปากขวดที่พบเกยตื้นตัวนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นโลมาตัวแรกที่เกยตื้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เพราะโลมาที่เกยตื้นทั้งที่ตายแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นโลมาพันธุ์หัวบาตรหลังเรียบ สำหรับโลมาปากขวด เป็นโลมาพันธุ์ที่ฉลาด สอนง่าย เรียนรู้ได้เร็วและหายาก เท่าที่พบในสวนสัตว์ หรือสวนสนุก ที่มีการแสดงโชว์โลมา ก็มักจะเป็นโลมาพันธุ์ปากขวดทั้งสิ้น โลมาพันธุ์ปากขวด จะมีวงจรชีวิต อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50 ปี แหล่งที่พบส่วนมากจะอยู่แถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย สัตวแพทย์หญิง ยังเปิดเผยอีกว่า การรักษาโลมาตัวนี้ที่มีอาการป่วยหนัก ทางศูนย์วิจัยฯ ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร และจะรอดชีวิตหรือไม่ ต้องรอให้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพฯ เท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัยชี้ชัด คาดว่าอีกประมาณ 1 อาทิตย์ คงจะทราบผล.