"ยะลา" เฝ้าระวังพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมนำแบ็กโฮเคลียร์ทางน้ำ หลังอุตุฯ เตือนระวังฝนตกหนักอีกระลอก 3-5 ธ.ค. นี้ ด้านนายกเทศมนตรีนครยะลา แนะรัฐ สนใจแก้ปัญหาจริงจัง

วันที่ 2 ธ.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังจากระดับน้ำที่ท่วมสูงในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจของเทศบาลนครยะลา ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่สภาวะปกติในเช้าวันนี้ ว่าชาวบ้านเริ่มทยอยกลับเข้าบ้านเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือนของตัวเอง แต่ล่าสุดมีคำเตือนจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 2 ที่ระบุว่า ระหว่างวันที่ 3-5 ธ.ค. 2567 จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยในวันที่ 3 ธ.ค. จะมีฝนหนักบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง และจะมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ส่วนช่วงวันที่ 4-5 ธ.ค. จะมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนที่ตกสะสม และลมกระโชกแรง ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขา

...

ซึ่งในการเตรียมการรับมือของทางเทศบาลนครยะลา ได้มีการนำรถแบ็กโฮไปขุดร่องน้ำต่างๆ ที่เป็นทางน้ำไหล รวมทั้งนำเศษขยะต่างๆ ออกจากเส้นทางน้ำเพื่อเตรียมรอรับน้ำที่จะตกลงมา ซึ่งนายพงศ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา บอกว่า ทางเทศบาลนครยะลาพยายามทำให้ดีที่สุดในส่วนของท้องถิ่นที่จะสามารถทำได้ การแก้ปัญหาน้ำท่วมในยะลา ลำพังเทศบาลไม่สามารถทำได้ เมื่อเทียบกับหาดใหญ่ เมื่อปี 2542 และ 2548 เทศบาลนครหาดใหญ่ก็ประสบปัญหาไม่ได้ต่างจากยะลา ในเขตย่านเศรษฐกิจก็จมทั้งหมด

ส่วนพื้นที่ยะลาและสะเตงนอก ได้ช่วยกันเองมาตลอด และเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ก็อยากให้ทางรัฐบาลให้ความสนใจ อาจจะต้องคิดถึงการสร้างเขื่อนที่อำเภอกรงปินัง ที่คิดมา 40 ปี ในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำปัตตานี ขณะที่พื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา แม่น้ำปัตตานี ก็อาจจะต้องคิดทำฟลัดเวย์ โดยการขยายแม่น้ำให้กว้างขึ้นกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้ค่อนข้างแคบ การเวนคืนที่ดินเพื่อขยายแม่น้ำให้รับน้ำได้มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้รับน้ำได้มากขึ้น นี่คือโจทย์ที่ต้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแล

สำหรับการเตรียมรับมือปริมาณน้ำฝนที่อาจจะมาอีกครั้งในช่วงวันที่ 3-5 ธ.ค. นี้ คาดว่าพื้นที่น้ำท่วมที่ผ่านมา อาจจะได้รับผลกระทบอีกครั้ง เพราะพื้นยังอุ้มน้ำอยู่ รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ก็ยังไม่ได้กลับไปสู่จุดต่ำสุด และมีน้ำจากเขื่อนบางลางที่ปล่อยลงมาสมทบด้วย ดังนั้นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมในห้วงที่ผ่านมา ก็จะเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มีการคาดการณ์จากหลายสำนักว่า ปริมาณน้ำที่จะมาในวันที่ 3-5 ธ.ค. นี้จะมากกว่าครั้งที่ผ่านมา หากหย่อมความกดอากาศไม่ถูกพัดพาไปที่อื่น