น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่างเริ่มคลี่คลายหลังฝนซา ส่งผลให้หลายจังหวัดน้ำลดลง ปัตตานีเหลือแค่ 2 ชุมชนติดแม่น้ำที่ยังหนัก เช่นเดียวกับนราธิวาสพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำโก-ลก เมืองสุไหงโก-ลก น้ำยังสูง ยะลาเกิดเหตุระทึกดินภูเขาสไลด์ทับอาคารเทศบาลเบตง รถบัส รถตู้ราชการ และรถยนต์เจ้าหน้าที่พังหลายคัน ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงควายน้ำทะเลน้อยพัทลุงครวญ น้ำท่วมคอกและทุ่งหญ้า วอนรัฐช่วยเหลือ ขณะที่น้ำท่วมใต้กระทบสอบ TGAT/TPAT 2-5 ทปอ.เลื่อนสอบ 4 สนาม ยะลา-นราธิวาส จาก 7-9 ธ.ค. เป็น 21-23 ธ.ค.

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่างเริ่มคลี่คลาย โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ จ.ยะลา หลังจากฝนหยุดตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆลดลงเกือบ เข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะ ต.ท่าสาป ต.หน้าถ้ำ และ ต.ยุโป อ.เมืองยะลา หลังน้ำเริ่มลดพบรถยนต์ของ ชาวบ้านที่หนีน้ำไม่ทันถูกกระแสน้ำซัดเสียหายนับ 100 คัน นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งหนักสุดที่เคยเกิดขึ้นมาในรอบกว่า 30 ปี ส่วนในเขตเทศบาลนคร ยะลา ย่านตลาดเก่าเหลือน้ำท่วมเฉพาะตามซอยในที่ลุ่มต่ำเท่านั้น รวมทั้งตลาดเมืองใหม่บางจุดน้ำลดลงเช่นกัน ขณะที่ชาวบ้านต่างเร่งฟื้นฟูทำความสะอาดบ้าน หลังถูกน้ำท่วมขังนานหลายวัน แต่ยัง ไม่ยกของลงจากที่สูง เฝ้าระวังฝนรอบใหม่

ช่วงเช้าวันเดียวกัน นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายก เทศมนตรีเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา รับแจ้ง จากเจ้าหน้าที่ว่า เกิดเหตุดินภูเขาด้านหลังอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองเบตง (หลังใหม่) สไลด์ลงมา ทับพื้นที่จอดรถเสียหายเป็นทางยาว จุดเกิดเหตุเป็นอาคารสูง 6 ชั้น ดินสไลด์ลงมาดันพื้นปูนทับรถบัส รถตู้ของทางราชการ และรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่เทศบาลเสียหายหลายคัน บางคันสไลด์ ทะลุกำแพงเข้าไปติดอยู่ในห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ นายสกุลเปิดเผยว่า เบื้องต้นได้กั้นบริเวณด้านหลัง อาคารห้ามเข้าไปใกล้ เพราะเกรงดินจะสไลด์ลงมาซ้ำ รถคันไหนที่เลื่อนออกมาได้ก็เอาออกมาจอดยังที่ปลอดภัยด้านล่าง ส่วนตัวอาคารสำนักงานคิดว่าคงไม่มีผลกระทบ แต่เพื่อความไม่ประมาทให้วิศวกรฝ่าย ต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างตัวอาคารเพื่อความปลอดภัย ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากฝนตก สะสม ทำให้ดินภูเขาชุ่มน้ำ

...

ที่ จ.ปัตตานี ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย เนื่องจากน้ำเหนือจาก จ.ยะลา ยังคงไหลลงแม่น้ำปัตตานี ทำให้ หลายพื้นที่ของ จ.ปัตตานี มีน้ำท่วมสูง สำหรับในเขต เทศบาลเมืองปัตตานียังมีน้ำท่วมใน ต.จะบังติกอ บริเวณชุมชนวังเก่า ถนนหลังวัง น้ำยังท่วมสูง 1-2 เมตร ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 300 ครัวเรือน ต้องใช้เรือเข้าออกชุมชน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปอย่างยากลำบาก บ้านชั้นเดียวต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล 1 เช่นเดียว กับชุมชนริมคลอง ต.จะบังติกอ ที่อยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี น้ำสูง 1-2 เมตร ประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครอบครัว ชาวบ้านที่ประสบภัยเปิดเผยว่า ปีนี้ น้ำเยอะมาก ที่ผ่านมาไม่เคยมีน้ำท่วมมากขนาดนี้มาก่อน ตอนนี้น้ำอยู่ระดับเอว คนที่มีบ้านชั้นเดียว อยู่กันไม่ได้ ต้องไปอาศัยญาติหรือศูนย์อพยพเป็นที่ หลับนอนชั่วคราว แต่ก็อยู่กันลำบากและกังวลเรื่องทรัพย์สินในบ้าน

จ.นราธิวาส ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากฝนเริ่มซาลง ส่งผลให้หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลง จุดที่ยังน่าเป็นห่วง คือที่บ้านโคกกลาง หมู่ 2 และบ้านปาดังยอ หมู่ 3 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำโก-ลก ล่าสุดน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 1-1.80 เมตร เจ้าหน้าที่เร่งอพยพชาวบ้านกว่า 100 คน นายอนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงโก-ลก ร.ท.กลวัชร ตาวงศ์ ผบ.ร้อยปืนเล็กที่ 4 ชุดเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ 33 และนายวิชิตชาติ อุดมลาภเจริญกิจ หัวหน้ามูลนิธิกู้ภัยเซิ้งหมู่ธารน้ำใจสุไหงโก-ลก นำเจ้าหน้าที่กว่า 60 ชีวิต ลงเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ และเรือพาย ฝ่ากระแสน้ำไปช่วยอพยพชาวบ้านที่ติดค้างในบ้านกว่า 100 คนไปอาศัยอยู่ชั่วคราวที่ศูนย์อพยพโรงเรียนดารุลฟุรกอน และโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะลือซง

ขณะที่ถนนสายหลัก 6 สาย ยังไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เนื่องจากมีน้ำท่วมขังสูงเฉลี่ย 60-100 ซม. ประกอบด้วยถนนสายบ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส หลักกิโลเมตรที่ 5, ถนนสายบ้านมะนัง ตายอ อ.ยี่งอ, อ.เมืองนราธิวาส หลักกิโลเมตรที่ 5-7, ถนนสายบ้านบริจ๊ะ อ.ศรีสาคร อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถนนแยกทางหลวงภายในศูนย์ราชการ อ.เมืองนราธิวาส ถนนแยกทางหลวงบ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และถนนแยกทางหลวงบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส หลักกิโลเมตรที่ 6-7 อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตก หนักซ้ำจะทำให้น้ำท่วมขังทั้ง 13 อำเภอกลับเข้าสู่ภาวะปกติราว 1 สัปดาห์

ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา น้ำแห้งกลับเข้าสู่ภาวะ ปกติหมดแล้วทุกพื้นที่ เช้านี้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดพ่อพรหม ซึ่งเป็นตลาดนัดวันอาทิตย์นำของ กลับมาเปิดขายกันตามปกติ เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านนพเก้า ย่านถนนพลพิชัย เขตเทศบาลเมืองคอหงส์ ที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุด เนื่องจากอยู่ติดคลองหวะ ล่าสุด น้ำลดลงเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่งานป้องกันเทศบาลเมืองคอหงส์เตรียมพร้อมช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีทั้งโรงแรม บ้านเรือน และหอพักนักศึกษาจำนวนมาก ส่วนชุมชนบ้านควนสันติในซอย 41 หลัง น้ำแห้งมีชาวบ้านขนข้าวของที่เสียหายและขยะมากองตลอด ซอยเพื่อรอเทศบาลมาเก็บ

ส่วน จ.พัทลุง ชาวบ้านยังได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง พัทลุง อ.เขาชัยสน อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว และอ.ควนขนุน ซึ่งเป็นอำเภอตอนล่างรองรับน้ำเหนือ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ต้องใช้เรือในการ สัญจรเข้าออกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านควนกุฏ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง อยู่ติดริมคลองลำเบ็ดได้รับผลกระทบหนักที่สุด ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 200 ครัวเรือน ทหารช่างที่ 401 กองพลพัฒนาที่4ลุยน้ำเข้าไปช่วยขนย้ายข้าวของไว้ที่สูงและอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ขณะที่ชาวบ้านหมู่ 12 ต.หารโพธิ์ อ.เขาชัยสน กว่า 200 ครัวเรือนถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตรเช่นกัน ต้องย้ายมาอยู่บน ถนนที่น้ำท่วมไม่ถึง ล่าสุดระดับน้ำทรงตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

...

สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงควายน้ำในพื้นที่ ต.ทะเลน้อย และ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน ต่างเร่งย้าย ควายน้ำขึ้นมาอยู่ในที่ปลอดภัย คอกควายที่อยู่บริเวณ โคกกลางน้ำอยู่ไม่ได้ นายจีระศักดิ์ บุญยะบุญญา อายุ 60 ปี เปิดเผยว่า เลี้ยงควายเกือบ 40 ตัว ต้อง หนีน้ำมาอาศัยในที่สูงเป็นพื้นที่ของเพื่อนบ้าน ตอนนี้ เกษตรกรที่เลี้ยงควายเจอปัญหาคือแหล่งหญ้าถูกน้ำท่วม แม้ว่าควายพอจะดำลงไปกินหญ้าได้บางจุด แต่ในพื้นที่มีน้ำท่วมขังนานประมาณ 1 เดือน หญ้า เน่าตายเกือบหมด เกษตรกรต่างช่วยเหลือตัวเองด้วยการหาซื้อฟางแห้งมาเป็นอาหารสำรองให้ควาย หลังจากนี้หวั่นเกรงว่าโรคปากเท้าจะตามมา วอนภาครัฐ ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายด้วย

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการลงพื้นที่ติดตาม การฟื้นฟู อ.แม่สาย จ.เชียงราย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการ ศปช.สรุปสถานการณ์และการแก้ปัญหาอุทกภัยภาคใต้ตามโมเดล จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เช้าและบ่าย เพื่อจะได้ให้ส่วนราชการ ต่างๆสนับสนุนในจุดที่ยังต้องเข้าแก้ไขเพิ่มเติม ช่วงเช้า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. พร้อม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ รมช. มหาดไทย นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม พร้อมส่วนราชการเข้ารายงานสถานการณ์

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผอ.ศปช.ได้สั่งการตั้งแต่วันศุกร์คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ห่างไกลและไม่สามารถสัญจรไปมาได้ สนับสนุนอาหารและน้ำดื่ม กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่วนแผนระยะสองจะเป็นการกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูทั้งทางด้านที่อยู่อาศัยและพืชผลทางการเกษตร โดยทุกภาคส่วนราชการได้ลงพื้นที่ตั้งศูนย์อำนวยการระดับจังหวัดมาตั้งแต่วันศุกร์ กระทรวงกลาโหมจัดส่งกำลัง กองทัพทุกภาคในส่วนหน้าจังหวัดภาคใต้เข้าช่วยเหลือ หลังน้ำลดจะเป็นการฟื้นฟูสาธารณูปโภคและกำหนด การเยียวยา ทั้งพี่น้องประชาชนและพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย

...

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ว่า ต้องเตรียมรับมือระลอก 2 กลางเดือน ธ.ค. เนื่องจากจะมีพายุเข้าอีก 1 ลูก ประกอบกับลานีญา ขณะนี้สั่งการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ใต้เขื่อนบางลางต้องมีการระบายน้ำออกบ้าง แต่ไม่ให้สูงเกินพื้นที่ท้ายเขื่อนเกินกว่า 2 เมตร เนื่องจากก่อน หน้านี้สูง 2 เมตรกว่า แต่หากไม่ระบายเลยก็ไม่ได้ และวันที่ 6 ธ.ค.นี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทองรอง นายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ เนื่องจากเป็นประธาน กรรมการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เวลานี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการออกจากพื้นที่และยังไม่ต้องรีบกลับเข้ามา ขออย่าห่วง ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลเป็นอย่างดี

เมื่อเวลา 11.36 น. วันเดียวกัน ที่ด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายก รัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมชายแดนภาคใต้ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุได้ส่งรองนายกฯและรัฐมนตรีลงพื้นที่ สำหรับตนจะลงพื้นที่หรือไม่นั้นต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมาต้อนรับอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หากตนลงไปต้องมีขั้นตอนการต้อนรับ หากสถานการณ์เรียบร้อยสามารถไปได้ก็จะลงพื้นที่เลย เมื่อถามว่านายกฯจะลงพื้นที่สัปดาห์หน้าเลยหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่าต้องดูความเหมาะสม ไม่ว่าจะเกิดภัยอะไรในจังหวัดใด ตนอยากไปทุกจังหวัด ถ้าทำได้ไปแน่นอน แต่อย่างน้อยขอให้ ความช่วยเหลือไปถึงโดยเร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้สำคัญกว่าคนหนึ่งจะปรากฏหน้าที่ไหน แต่ความช่วยเหลือและมาตรการต้องถึงทุกจังหวัดที่เกิดภัยพิบัติแบบนี้

เมื่อถามว่าจะชี้แจงกระแสดราม่าโซเชียลอย่างไรว่าไม่ได้ละเลยพี่น้องภาคใต้ นายกฯกล่าวด้วยสีหน้าจริงจังว่า “โอ้ คำว่าละเลยภาคใต้ สามีเป็นคนใต้ ครอบครัวสามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ ไม่รักคนใต้ แต่งงานคนใต้ไม่ได้นะคะ” และวันที่เกิดเรื่องทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ได้แจกจ่ายงานประสานทั้งหมด ยืนยันเราไม่ละเลยเมื่อเกิดเหตุเราต้องไป มีคนไป มีหน่วยงานเครื่องมือไป สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ขอพูดว่ารัฐบาลขยับได้เร็ว ความช่วยเหลือไปถึงเร็วมาก ขอให้เปิดใจในเรื่องนี้ อย่าคิดว่าดิฉันเป็นคนเหนือ แต่งงานกับคนใต้ค่ะ คนที่ทำงานด้วยหลายคนก็เป็นคนใต้ จึงไม่ใช่เลย ที่จะต้องมีดราม่าในเรื่องนี้ และทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนเป็นคนไทย วันนี้ที่ดิฉันบอกจะขอเป็นนายกฯของคนไทย ต้องรักษาคำสัญญานั้น

...

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศการจัดสอบ TGAT/TPAT 2-5 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่ประสบน้ำท่วม ให้เลื่อนวันสอบ 4 สนามสอบ ใน จ.ยะลา นราธิวาส ได้แก่ สนามสอบ ร.ร.สตรียะลา ร.ร.ธรรมมูลนิธิ ร.ร.คณะราษฎร์บำรุง จ.ยะลา และสนามสอบมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส โดยเลื่อนสอบจากวันที่ 7-9 ธ.ค. เป็นวันที่ 21-23 ธ.ค. และอนุญาตให้ผู้สมัครในสอบสนาม จ.ปัตตานี และ จ.สงขลา ที่อาจจะประสบ ปัญหาการเดินทางเข้าสอบวันที่ 7-9 ธ.ค. ให้ลงทะเบียน ย้ายวันสอบมาเป็นวันที่ 21-23 ธ.ค. ผ่านระบบ student. mytcas.com ภายในวันที่ 5 ธ.ค. เวลา 24.00 น. ข้อสอบที่ใช้วันที่ 21-23 ธ.ค. จะเป็นข้อสอบชุดใหม่ ที่มีมาตรฐานเดิม เพื่อความเสมอภาคสำหรับผู้สอบทุกคน ทั้งนี้ ทปอ.ได้จัดตั้งวอร์รูมทีแคสเพื่อเกาะติดสถานการณ์ และดูแลการจัดสอบในพื้นที่ดังกล่าว และรายงานข้อมูลให้นักเรียนที่เข้าสอบทราบเป็นรายวัน และนักเรียนสามารถติดต่อ ทปอ.ผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก Mytcas

ที่กระทรวงมหาดไทย วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ว่า หลังน้ำลดจะเข้าประเมินความเสียหายทันที เพื่อเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานกับจังหวัดที่ประสบภัยที่ส่วนใหญ่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัดอยู่แล้ว จะทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อสำรวจความเสียหายหากเข้าเกณฑ์ก็เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อนโอนเงินเข้าสู่บัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง จะเร่งเสนอใช้งบกลางเข้า ครม.ภายในสัปดาห์นี้ ที่ต้องให้นายกฯพิจารณาข้อมูลก่อน นายกฯ สั่งการว่าความเดือดร้อนขนาดนี้ไม่ประเมินความเสียหาย ควรใช้เกณฑ์สูงสุดครัวเรือนละ 9,000 บาท

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่