เจ้าหน้าที่อุทยานฯ กุยบุรี พร้อมสัตวแพทย์ ช่วย "กระทิง" บาดเจ็บ ขาถูกบ่วงสลิงรัด วางแผนยิงยาซึม-เข้าทำการรักษา ก่อนปล่อยให้กลับไปหากินตามธรรมชาติ

วันที่ 23 ตุลาคม 2567 นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบเห็นกระทิงบาดเจ็บ บริเวณบ้านกระทุ่น หมู่ 5 ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยในราชการทหาร ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร ทราบว่าเป็นกระทิงเพศผู้โตเต็มวัย อายุค่อนข้างมาก ร่างกายซูบผอม ได้รับบาดเจ็บที่ขา เดินขากะเผลก หากินตามลำพังอยู่บริเวณทุ่งหญ้า หมู่ที่ 5 บ้านกระทุ่น พบเห็นกระทิงตัวดังกล่าวออกมาหากิน บริเวณชายป่าในช่วงเช้าเป็นประจำ

นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หน.อช.กุยบุรี ร่วมกับ นายสัตวแพทย์อนุรักษ์ สกุลพงษ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี สัตวบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพสัตว์ รวมถึงเวชภัณฑ์เพื่อเข้าทำการรักษา ช่วงเช้าได้นำกำลังพร้อมอากาศยานไร้คนขับเข้าพื้นที่ดังกล่าว ในการค้นหาตัวกระทิงดังกล่าวเพื่อประเมินอาการ แต่ไม่พบตัว จนกระทั่งเที่ยงวันเจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนแผนเดินเท้าปูพรม เพื่อติดตามตัวกระทิงที่ได้รับบาดเจ็บ

...

ต่อมาในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่พบกระทิงตัวดังกล่าวอยู่ในร่องห้วย วางแผนยิงยาซึมเพื่อเข้าทำการรักษา แต่เนื่องด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าทึบ ไม่สามารถยิงยาซึมได้ จึงวางแผนหลอกล่อให้ออกมาอยู่แนวชายป่า กระทั่งยิงยาซึมสำเร็จ

จากนั้นได้เข้าทำการรักษา โดยอาการของกระทิงตัวดังกล่าว ข้อเท้าขาหน้าด้านขวาถูกบ่วงสลิงรัด จนเป็นแผลลึก มีลวดสลิงติดอยู่ภายในแผล เจ้าหน้าที่ใช้คีมตัดเหล็กตัดลวดออก โดยทีมสัตวแพทย์ได้ดำเนินการล้างแผล ใช้ผ้าก๊อซขัดเศษเนื้อตาย หนอง เศษดินสิ่งสกปรกออก และล้างออกด้วยน้ำเกลือล้างแผล เอาสิ่งสกปรกออกให้สะอาดที่สุด ป้ายยาเจลฆ่าเชื้อและผงฆ่าหนอนแมลงวัน ทำการพันแผลด้วยผ้าก๊อซและเทปสำหรับพันแผล ให้สารน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำบริเวณใบหู ฉีดยาปฏิชีวนะและยาบำรุง และเจ้าหน้าที่เฝ้าอาการกระทิงจนฟื้นจากยาสลบ สามารถลุกเดินได้จึงถอนกำลังออก และปล่อยให้กระทิงหากินตามธรรมชาติต่อไป.