ปลัด มท. ลงพื้นที่ร่วมกับโครงการชลประทานสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่ ติดตามความพร้อมการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนร่วมแจ้งเหตุหรือแนวทางในการป้องกันน้ำท่วมหาดใหญ่ทางสายด่วนนิรภัย 1784 และศูนย์ดำรงธรรม 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ได้ไปตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บริเวณประตูระบายน้ำคลองภูมินาถดำริ (คลอง ร.1) โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการ จ.สงขลา นางสาวสุนารี บุญชุบ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหาดใหญ่ นายสุรศักดิ์ ทองปนแก้ว หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 โครงการชลประทานสงขลา ร่วมลงพื้นที่
ทั้งนี้ วันนี้ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.ใหญ่ ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับโครงการชลประทานสงขลา ที่ทำการปกครอง อ.หาดใหญ่ และเทศบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ คือ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองควนลัง และเทศบาลเมืองคอหงส์ ในการบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านมา เมื่อฝนตกหนักนครหาดใหญ่มีน้ำท่วมสูงเป็นเมตร แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อปี 2531 แก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเกิดเป็นโครงการบรรเทาอุทกภัย อ.หาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริพระราชดำริ เพื่อแบ่งปันมวลน้ำของคลองอู่ตะเภาที่เป็นคลองธรรมชาติสายหลักจาก อ.สะเดาไหล ลงมาสู่ อ.หาดใหญ่และลงสู่ทะเลสาบสงขลา ออกเป็น 2 ทาง โดยทางสายเดิม คือแนวคลองอู่ตะเภาเดิมที่ไหลเข้าเมือง และอีกสายหนึ่ง จะไหลไปตามแนวถนนเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ไปลงที่ทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้ปัจจุบันคลองภูมินาถดำริ หรือ คลองระบายน้ำที่ 1 (คลอง ร.1) มีความยาว 21.343 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็นคลองสายหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากเป็นคลองที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาช่วงก่อนเข้าเมืองหาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นทางด่วนของน้ำที่มาจากต้นคลองอู่ตะเภาในพื้นที่อำเภอสะเดา หาดใหญ่ตอนบน นาหม่อม และน้ำจากเขาคอหงส์บางส่วนให้ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาอย่างรวดเร็วแทนการไหลผ่านคลองอู่ตะเภาเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นในอดีต
...
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่วันนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจ คือ ประการที่ 1 ทุกภาคส่วนเตรียมพื้นที่รองรับฝนตกหนัก ทำให้ระบบพร่องน้ำและระบบระบายน้ำต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่ 2 ขณะนี้น้ำจากต้นทาง คือ อ.สะเดา เขตชายแดนไทย-มาเลเซียที่จะไหลมาที่อ.หาดใหญ่ มีอ่างเก็บน้ำอยู่ 3 ลูก ความจุรวม 85 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำเพียง 45% ยังเหลืออีก 55% จึงจะเต็มความจุ อันมีนัยสำคัญว่า ยังสามารถรองรับมวลน้ำจำนวนมากได้ ในขณะเดียวกันคลองอู่ตะเภา และคลองภูมินาถดำริ ก็ยังมีระดับน้ำที่ต่ำมาก ซึ่งถ้าสังเกตด้วยตาก็ดูไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ดังนั้น พี่น้องชาวอ.หาดใหญ่และชาวจ.สงขลา ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องวิตกกังวลอะไรมาก และขณะเดียวกันทางโครงการชลประทานสงขลาได้วางระบบในการที่จะมีระบบโทรมาตรเตือนภัย ตั้งแต่เลยพื้นที่อ.สะเดามา จำนวน 2 จุด เพื่อเตือนภัยให้ทราบถึงสถานการณ์ระดับน้ำในคลองอู่ตะเภา และปริมาณน้ำฝนที่ตกจากท้องฟ้า ซึ่งทำให้สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ควบคู่การแจ้งเตือนภัยด้วยทีมจิตอาสาเฝ้าระวัง และค่อยแจ้งบอกเหตุโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ ได้จัดตั้งอาสาสมัคร ทั้ง อปพร. และอาสาสมัครแจ้งเหตุ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยตลอดลำน้ำอู่ตะเภาได้เป็นหูเป็นตาและคอยส่งข่าวการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เพื่อที่จะแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยเร็ว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า จากนั้น เวลา 12.00 น. ตนพร้อมคณะเดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำปลายคลองเตย (ข.7) เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมี นายอาหมัด เบ็ญอาหลี และนายวินัย ปิ่นทอง รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ให้การต้อนรับ จากการได้รับฟังบรรยายสรุปของรองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ จึงขอเรียนว่า พี่น้องชาวเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ทุกท่านมั่นใจได้ ด้วยความร่วมมือกันระหว่างเทศบาลนครหาดใหญ่ โครงการชลประทานสงขลา จสงขลา และอ.หาดใหญ่ ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งลุ่มน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองจุดต่างๆ ตลอดเส้นลำน้ำ เกือบครบ 100% ซึ่งในด้านเครื่องไม้เครื่องมือนั้น ในขณะนี้ศักยภาพของการสูบน้ำ ระบายน้ำของสถานีสูบน้ำปลายคลองเตยออกไปนอกเขตเมือง มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะได้รับงบประมาณจากทางรัฐบาลเมื่อปีงบประมาณ 2565 ทำให้เปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ 18 ตัว ที่สถานีสูบน้ำปลายคลองเตย ให้มีความพร้อมเต็มกำลัง
อย่างไรก็ตาม ในเชิงการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำนั้น ได้สั่งการให้รองผู้ว่าราชการจ.สงขลาและหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.สงขลา หารือกับผู้ว่าราชการจ.สงขลา และนายอำเภอที่อยู่ต้นน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.นาหม่อม คือ คลองแม่เรียนที่จะไหลมาถึงหาดใหญ่ ให้ได้ช่วยกันนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำเอาจิตอาสามาช่วยกันทำฝายแม้ว ทำหลุมขนมครกที่อำเภอนาหม่อม เพื่อทำให้ลำน้ำแม่เรียนเกิดความอุดมสมบูรณ์ ชะลอการไหลของน้ำ ดังที่พระองค์ทรงสอนว่า ให้ช่วยทำฝายแม้วเพื่อชะลอน้ำ ทำหลุมขนมครกไว้ที่ลำห้วย ที่บริเวณใกล้เคียง ทำรากฝอยให้กับแม่น้ำ ห้วย เพราะแม่น้ำ ลำคลองเป็นเหมือนรากแก้ว ที่เราสามารถเพิ่มรากฝอยเพื่อให้ในพื้นที่มีต้นไม้ที่ทำให้ผืนแผ่นดินมีโอกาสอุ้มน้ำเพิ่มมากขึ้น พืชพันธุ์เจริญงอกงาม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณทางโครงการชลประทานสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองควนลัง และเทศบาลเมืองคอหงส์ ที่ผนึกกำลังร่วมกับนายอำเภอ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับประชาชนและภาคีเครือข่าย ในการดูแลป้องกันแก้ไขและช่วยเหลือพี่น้องในทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากประชาชนพบเห็นเหตุสาธารณภัย หรือมีข้อแนะนำในการป้องกันสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น สามารถโทรฮอตไลน์สายด่วนนิรภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 และศูนย์ดำรงธรรม 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือและเหตุทุกเรื่อง ขอให้ได้แจ้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน มันจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และทำให้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาไม่ต้องประสบกับอุทกภัยอย่างยั่งยืน
...
นายวินัย ปิ่นทอง รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า พื้นที่เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ มีบทเรียนอุทกภัยครั้งใหญ่ๆ มา 2 ครั้ง คือ ปี 2543 และปี 2553 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในแต่ละปีไม่ใช่ว่าน้ำจะไม่หลากเลย เกิดขึ้นทุกปี เพียงจะมากบ้างน้อยบ้าง แต่เทศบาลนครหาดใหญ่ได้มีมาตรการในการป้องกันและรองรับสถานการณ์ โดยก่อนเข้าฤดูฝนที่เกิดจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออันส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วง เทศบาลได้เตรียมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆในการป้องกัน รวมถึงสิ่งสำคัญ คือ ทางระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นคลองระบายน้ำหรือคูระบายน้ำ ซึ่งคลองที่รับน้ำในเมืองก็คือ คลองเตย ที่รับน้ำในพื้นที่เมืองหาดใหญ่ และรับน้ำจากตั้งแต่อำเภอนาหม่อมและเทือกเขาคอหงส์ที่เชื่อมกันมา ซึ่งขณะนี้เราขุดลอกกันหมดแล้ว แต่ยังคงเหลือคูบริเวณในเมืองที่เราขุดลอก ดูดโคลนตลอดเวลา แต่ด้วยเหตุที่มีคูเล็กคูน้อยจำนวนมาก และมีหลายจุดที่ยังมีดินตกค้างอยู่ ซึ่งเราได้พยายามเร่งระดมสรรพกำลังดำเนินการในทุกวัน เพื่อรองรับฝนที่จะมาชุดใหญ่
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมเรื่องของกระสอบทรายจำนวน 30,000 กระสอบในเบื้องต้น เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อมีฝนตกหนักจะมีความหวั่นไหว รวมถึงการใช้สถานีสูบน้ำที่ใหญ่เพื่อดึงน้ำออกจากตัวเมือง โดยมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มหึมา จำนวน 18 ตัว ที่มีประสิทธิภาพ จากเดิมสามารถสูบน้ำได้ 53 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นสามารถสูบน้ำได้ 64 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ในระบบเตือนภัย เราได้เร่งประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนและช่องทางการดูสถานการณ์น้ำ ด้วยการเสริมเพิ่มเติมในเรื่องของกล้อง CCTV ตามจุดต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และผู้ประกอบการในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความร่วมไม้ร่วมมืออย่างดี แต่อย่างใดก็ตาม หากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก ตกแช่ ตกนาน ด้วยความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน ๆ ก็จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือเรียกว่า น้ำรอการระบายตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2565 และ 2566 ที่ผ่านมา ก็มีน้ำท่วมขังบริเวณถนนกาญจนวนิช แต่ด้วยมาตรการที่กำหนด ก็จะใช้เวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง ก็ระบายได้หมด ดังนั้นขอยืนยันว่าเทศบาลนครหาดใหญ่มีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำท่วม และน้ำรอการระบาย ด้วยการใช้มาตรการป้องกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ
...