พบอีกแห่งอาคาร บ่อบำบัดน้ำเสียบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ โครงการมูลค่ากว่า 2.5 พันล้าน สำหรับบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง สร้างแล้วทิ้ง กลายเป็นสวรรค์ปลาหมอคางดำ นักพี้ยา ไม่ได้ใช้งานจริง ประมงจังหวัดแจงชาวบ้านไม่จ่ายเงินค่าไฟ ทำให้ต้องหยุดกิจการ

ที่ จ.นครศรีธรรมราช จากเมื่อสัปดาห์ก่อน พบอาคารบ่อบำบัดน้ำเสียมูลค่ากว่า 600 ล้าน ถูกทิ้งร้างอยู่ในตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กลายเป็นสวรรค์แหล่งอาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ล่าสุดผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้านในตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง  แจ้งว่า ยังมีชุดอาคารเช่นนี้ถูกทิ้งร้างอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าพญา ในเขตโซนบริหารจัดการน้ำเค็ม พื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อเข้าไปตรวจสอบ พบว่ามีอาคารรูปแบบการก่อสร้าง และระบบเช่นเดียวกันกับพื้นที่ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร ทั้งหมดมี 4 อาคาร ระบบท่ออาคารละ 4 ชุด แต่ภายในถูกถอดอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า และชิ้นส่วนต่างๆ หายไปหมด เนื่องจากบ่อบำบัดจำนวน 12 บ่อ และอาคารนี้ถูกทิ้งร้างมาหลายปี ไม่สามารถใช้การบ่อพักน้ำและบำบัด เป็นอีกแหล่งที่มีปลาหมอคางดำเข้ามาอาศัยแพร่ขยายพันธุ์

...

นายกล้าหาญ นวลจุย ชาวตำบลท่าพญา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ระบุว่า ที่มาของโครงการนี้คือการไปศึกษาดูงานการเลี้ยงกุ้งที่จันทบุรี เมื่อราว 20 ปีก่อน หลังจากนั้นนำมาสร้างที่นี่ แต่เมื่อสร้างแล้วเกิดปัญหาติดขัด จนไม่สามารถใช้การต่อไปได้ ถูกทิ้งมาจนถึงปัจจุบัน เรียกร้องให้ภาครัฐ รวมทั้งองค์กรที่มีหน้าที่มาตรวจสอบให้ชัดเจน และทำอย่างไรให้สามารถกลับมาใช้การได้จริง ไม่ควรถูกทิ้งร้างไว้เช่นนี้


ขณะที่นายโกศล ปัญจาระ สารวัตรกำนันตำบลท่าพญา ยืนยันว่า หลังจากก่อสร้างเปิดใช้งานได้เพียง 1-2 ปี ก็มีปัญหาหมักหมมต่อเนื่องมายาวนาน "พื้นที่นี้อยู่ในเขตโครงการพระราชดำริ แบ่งให้เป็นโซนการจัดการน้ำเค็ม ชาวบ้านต่างยอมตอบรับกติกา ได้เลี้ยงกุ้งมาตั้งแต่กุ้งกุลาดำ จนกระทั่งมาเป็นกุ้งขาวแวนนาไม โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ นับแต่ค่าเวนคืน ค่ารางน้ำ จนถึงบ่อบำบัด มีเขตพื้นที่จัดการเป็นหมื่นไร่ แต่การจัดการน้ำเค็มไม่มี จึงอยากให้กลับมาดูแลตรวจสอบ ในเมื่อโครงการที่ทำไปแล้วใช้การไม่ได้ ทุกข์ทรมานก็มาอยู่กับชาวบ้าน"


อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ พบข้อมูลการศึกษาโครงการนี้เมื่อปี 2546 โดยกรมประมง ใช้ชื่อว่า "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การศึกษาจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการจัดระบบน้ำเค็มเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล" เป็นเอกสารรายงานสำหรับผู้บริหาร โดยบริษัทที่ปรึกษามีข้อมูลชุดโครงการนี้มูลค่า 2,592,408,905 บาท (สองพันห้าร้อยเก้าสิบสองล้าน สี่แสนแปดพันเก้าร้อยห้าบาท) จากฐานราคาปี 2545 เป็นฐานคิดคำณวน 


ขณะที่นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการมีจุดประสงค์คือการสืบน้ำทะเลเข้ามาในเขตชลประทานน้ำเค็มให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง และเมื่อเลี้ยงแล้วมีน้ำเสียจากการเลี้ยงจึงมีระบบบำบัด โดยมีข้อตกลงคือเกษตรกรร่วมชำระค่าไฟฟ้า ในปีแรกราชการออกให้ 75 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกร 25 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 2 ราชการ 50 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกร 50 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 3 ราชการ 25 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกร 75 เปอร์เซ็นต์ และปีที่ 4 เกษตรกรออกทั้งหมด แต่ไม่มีการชำระมาจากเกษตรกรเป็นเหตุให้ต้องหยุดดำเนินการ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ และไม่สามารถถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นได้.

...