พ่อเมืองภูเก็ต สั่งยุติการค้นหาเหตุดินโคลนถล่ม หลังพบผู้สูญหายครบ 13 ศพ พร้อมจ่อตั้ง คกก.ตรวจสอบจุดก่อสร้างลานจอดรถพระใหญ่ อาจเป็นต้นเหตุทำดินสไลด์ โดยมอบให้ป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อเท็จจริง ขณะที่ลานจอดจุดดินสไลด์ลงเขาใหม่เอี่ยม มีการนำสแลนปิดกันหน้าผาโดยรอบแล้ว
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 67 นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผวจ.ภูเก็ต กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาดินและหินภูเขาสไลด์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต หลังมีฝนตกหนักและต่อเนื่อง จนทำให้เกิดโศกนาฆฏกรรมดินโคลนพัดถล่มท้ายซอยปฏัก 2 หลังวัดกะตะและบริเวณใกล้เคียง ต.กะรน อ.เมือง จนมีผู้เสียชีวิตถึง 13 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีบ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหลายสิบครอบครัว ว่า เหตุการณ์ดินและหินจากภูเขาสไลด์หลังจากฝนตกหนักเกิดขึ้นติดต่อกัน 2 ครั้งแล้วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา
โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.กมลา อ.กะทู้ เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขากมลาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับได้นำดินโคลน หิน ทรายและต้นไม้ลงมาพัดบ้านเรือนเสียหายและมีน้ำท่วมในเวลาต่อมา โชคดีไม่มีประชาชนสูญหายหรือได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.กะรน อ.เมือง รอยต่อระหว่างคืนวันที่ 22-23 ส.ค. 67 จากการสอบถามกรมทรัพยากรธรณีทราบว่าเกิดจากฝนตกหนักเกินกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้ดินอุ้มน้ำ เกิดความลื่นและไหลลงมาทั้ง 2 จุด โดยกรมทรัพยากรธรณีได้แนะนำให้ปลูกพืชคลุมดิน ซึ่งจังหวัดกำลังจัดหาเมล็ดต้นกฐินยักษ์และต้นไทรมาหว่านตามจุดต่างๆ ที่มีความเสี่ยงทั่วทั้งภูเก็ต 7-8 จุดตามที่ได้มีการบินสำรวจไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
...
ผวจ.ภูเก็ต กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการทางกฎหมายนั้น จะต้องมีการตรวจสอบผู้ที่ขึ้นไปบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีรายใดอยู่ในเขตป่าไม้บ้าง ซึ่งจะทำทั่วทั้งจังหวัด รวมไปถึงมาตรการในการแจ้งเตือนภัย ซึ่งที่ ต.กะรนได้มีการแจ้งเตือน แต่เนื่องจากเหตุเกิดในช่วงรุ่งเช้าที่คนกำลังนอนหลับอยู่ ซึ่งจุดนี้จะต้องมีการปรับแก้กันต่อไป ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จุดที่เกิดดินโคลนสไลด์ลงมานั้น น่าจะเกิดจากการก่อสร้างลานจอดรถและห้องน้ำของวัดพระใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมืองนั้น วัดพระใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ทางจังหวัดจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีป่าไม้เป็นเจ้าภาพหลัก และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนร่วมด้วย เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากจุดนี้หรือไม่ อย่างไร หากไม่เป็นสาเหตุจะได้ดำเนินการในมาตรการอื่นต่อไป
จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ไปสำรวจบริเวณสถานที่ก่อสร้างลานจอดรถและห้องน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรีหรือพระใหญ่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เกาะภูเก็ตแบบ 360 องศาได้อย่างสวยงาม โดยสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวอยู่ริมหน้าผาที่มีความลาดชันเป็นอย่างมาก พบมีการนำสแลนสีเขียวกั้นปิดบริเวณริมหน้าผาไว้โดยรอบ โดยใช้แบริเออร์สีขาวทับปิดอีกชั้น ซึ่งที่พื้นโดยรอบมีการนำดินลูกรังบดอัดและโรยปิดทับด้วยหินอีกชั้น เมื่อมองลงไปด้านล่างจะเห็นบริเวณที่เกิดเหตุดินโคลนถล่มท้ายซอยปฏัก 2 หลังวัดกะตะและบริเวณใกล้เคียง โดยพบเจ้าหน้าที่ของบางหน่วยงานได้เข้ามาสำรวจบริเวณลานจอดรถของวัดเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีใครที่จะพูดถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว
ขณะที่ช่วงบ่ายวันที่ 24 ส.ค. 67 นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผวจ.ภูเก็ต ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประกาศยุติการค้นหาร่างผู้สูญหายจากเหตุภัยพิบัติดินโคลนถล่มในพื้นที่ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต หลังทีมกู้ภัยพบร่างผู้เสียชีวิตครบ 13 ราย จากการนำสุนัขค้นหาและกู้ภัยแห่งชาติ K9 ร่วมในการค้นหา แยกเป็นชาย 5 ราย หญิง 8 ราย ประกอบด้วย หญิงไทย 2 ราย ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสกลนคร สองสามีภรรยาชาวรัสเซีย 2 ราย แรงงานเมียนมา 9 ราย แบ่งเป็นชาย 4 ราย และหญิง 5 ราย ส่วนผู้ได้บาดเจ็บ 19 ราย มีครัวเรือนได้รับผลกระทบ 209 ครัวเรือน 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน โดย ผวจ.ภูเก็ตได้สั่งการเน้นย้ำการให้ความช่วยเหลือและเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าวตามระเบียบอย่างรวดเร็ว ส่วนกรณีชาวต่างชาติให้ประสานสถานทูตและกงสุลในพื้นที่ ประสานทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการ ในส่วนของแรงงานชาวเมียนมาได้มอบหมายให้แรงงานจังหวัดตรวจสอบข้อมูลการเข้าทำงาน พร้อมประสานผู้ประกอบการ เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด และมอบหมายให้ คปภ.ดูแลตรวจสอบเรื่องประกันของผู้ได้รับผลกระทบ หากเข้าข่ายที่สามารถช่วยเหลือได้ให้เร่งดำเนินการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในการคลี่คลายพื้นที่ได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเข้าคลี่คลายพื้นที่ เพื่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และคืนพื้นที่เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ตามปกติใน 1-2 วันนี้
...