เปิดรายชื่อ 7 จำเลยคดีตากใบ ศาลรับฟ้อง 3 ข้อหาหนักหลังเหตุการณ์ผ่าน 20 ปี  พิศาล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส. เพื่อไทย วิชม ทองสงค์ อดีต ผวจ.นราธิวาส พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ นายศิวะ แสงมณี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ทุกคนล้วนมีอายุกว่า 70 ปี 


วันที่ 23 ส.ค.67 กรณีศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาตากใบ จำเลยรวม 7 คนในข้อหา ฆ่าผู้อื่น, พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมขึ้นรถทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในลักษณะให้นอนซ้อนกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย จากการขาดอากาศหายใจ 


โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐานและมีเหตุการณ์สลายการชุมนุม และการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง ศาลนัดสอบคำให้การ 12 ก.ย.67 เวลา 09.00 น.แต่ยังไม่มีการออกหมายจับ โดยจะมีหมายเรียกให้มาศาลตามนัดหมาย


สำหรับจำเลย 7 คน ที่ศาลรับฟ้อง ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 3 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ปัจจุบันอายุ 76 ปี จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบัน อายุ 73 ปี จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบัน อายุ 77 ปี จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบัน อายุ 70 ปี จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 ปี

...


โดยจำเลยทั้ง 7 ถือเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และขณะนี้ศาลยังไม่ออกหมายจับ เนื่องจากต้องทำตามขั้นตอนในการออกหมายเรียก และนัดสอบคำให้การในวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 และ 7 ศาลถือว่าไปปฏิบัติหน้าที่บริเวณอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจำเลยที่ 7 ยังมีการติดต่อให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวชั่วคราว ชรบ.ที่ถูกจับและเป็นปมเหตุที่เกิดการจลาจลขึ้นในครั้งนั้นศาลจึงไม่รับฟ้อง


ขณะที่ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ที่ตัดสินใจฟ้องเพราะต้องการอยากรู้ว่าประเทศไทยมีความยุติธรรมอีกหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะเอาผิดแต่ต้องการให้จำเลยยอมรับว่าที่ทำลงไปมันผิดจริง


ด้านนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลไม่สั่งรับฟ้องจำเลยที่ 2 และ 7 โดยศาลให้เหตุผลในคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ไปปฏิบัติหน้าที่รอรับคนที่ถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธ ไม่ได้อยู่ร่วมตอนเหตุการณ์ในการจับการควบคุม แต่อย่างไรก็ดีการที่จำเลยที่ 2 รอรับคนแล้วทราบว่ามีคนเสียชีวิตมีการบรรทุกไปถึงค่ายอิงคยุทธ แต่การที่ไม่แก้ไขหรือแจ้งให้มีการแก้ไขให้ไม่เกิดความสูญเสียไม่ได้ทำตรงนี้ ซึ่งละเลยเฉยๆ ศาลยังมองว่าไม่ถึงกับที่ต้องเป็นข้อหา 288 ส่วนจำเลยที่ 7 ศาลเห็นว่าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณสามแยกตากใบ ในการตั้งด่านสกัดคนแล้วมีเรื่องของการไปทำเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อันนี้เป็นตามข้อมูลในเอกสาร ซึ่งการศาลรับฟ้อง อีกทางหนึ่งก็เป็นโอกาสที่ฝ่ายจำเลยจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่า ตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และสังคมก็จะสิ้นสงสัย

สำหรับเหตุการณ์จลาจลที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว โดยเจ้าหน้าที่เรียกไปสอบสวนหลังพบว่าอาวุธปืนของ ชรบ.ถูกคนร้ายปล้นไป มีชาวบ้านในพื้นที่นั้นมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ.ทั้ง 6 คน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ต้องทำการปิดล้อมพื้นที่และสลายการชุมนุม โดยมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ชุมนุม 6 คน จากนั้นจึงมีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 1,370 คน ขนย้ายขึ้นรถบรรทุกทหารไปค่ายอิงคยุทธ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 85 คน และถูกจับกุมประมาณ 1,300 คน โดยล่าสุดรัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5 แสนบาท