มกอช.ขานรับข้อสั่งการ "รมว.เกษตรฯ" ลุยสวนทุเรียน-โรงรวบรวมผลทุเรียนชุมพร สร้างการรับรู้ปฏิบัติตาม มกษ.9070-2566 ผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก ขณะที่ผู้ประกอบการ ตอบรับพร้อมปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนทุเรียน GAP โรงรวบรวมผลทุเรียนและโรงคัดบรรจุ ณ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ว่า ตามนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่ารักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลคุณภาพผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกมากที่สุดในเวลานี้ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนโดยประมาณ 1,054,868 ไร่ ปลูกมากในพื้นที่ จ.จันทบุรี จ.ชุมพร จ.ระยอง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช และสามารถปลูกได้ในทุกภูมิภาคของประเทศในปี 2566 มีปริมาณการส่งออก 1,094,900 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 164,787 ล้านบาท ทั้งในรูปแบบทุเรียนผลสด ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนกวน และทุเรียนอบแห้ง โดยประเทศที่ไทยส่งออกทุเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าการส่งออกของผลทุเรียนและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

...

ทั้งนี้ การส่งออกทุเรียนผลสดที่ผ่านมานั้น มักพบทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียน สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070) เพื่อช่วยสนับสนุนการจำหน่ายทุเรียนที่มีคุณภาพ โดยมาตรฐานดังกล่าวได้ประกาศตามกฎกระทรวงให้เป็นมาตรฐานบังคับ และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นการควบคุมตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ

กรอบการปฏิบัติตาม มกษ.9001 ระดับต้นน้ำ เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนต้องมีกระบวนการควบคุม และกระบวนการผลิตผลทุเรียนที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาด พื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรตามคำแนะนำที่ปลอดภัยเหมาะสม ร่วมกับการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมศัตรูพืช มีการจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม มีการป้องกันการปนเปื้อนระหว่างการขนย้าย มีการปฏิบัติงานอย่างถูกสุขลักษณะ และจดบันทึกข้อมูลที่สามารถตามสอบได้ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถใช้ใบรับรองมาตรฐาน หรือผลการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือบันทึกอายุผลทุเรียน (วันดอกบานถึงวันเก็บเกี่ยว) อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันก่อนตัดทุเรียนเพื่อจำหน่ายผลผลผลิตให้แก่สถานประกอบการต่อไป

ระดับกลางน้ำ คือ โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ต้องมีกระบวนการดำเนินการตรวจและรับผลทุเรียนแก่ ตาม มกษ.9001 กำหนด โดยจะมีการตรวจหลักฐานแสดงการจัดการของแหล่งปลูกผลทุเรียนที่รับจากเกษตรกร คือ ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เทียบเท่า หรือผลการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้ง หรือบันทึกอายุผลทุเรียน (วันดอกบานถึงวันเก็บเกี่ยว) อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อดำเนินการตรวจหลักฐานการจากเกษตรกรแล้ว สถานประกอบการจะทำการสุ่มผลทุเรียน เพื่อตรวจพินิจลักษณะภายนอกของผลทุเรียน และต้องมีการทวนสอบความแก่ของผลทุเรียน ด้วยการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้ง โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องทุเรียน (มกษ.3) ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการคัดบรรจุต่อไป

...

"มกอช.ได้บูรณาการร่วมกันกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานอื่นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสมาคมและหน่วยงานภาคเอกชน สร้างความตระหนักรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน มกษ. 9070 ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ จากการจัดโครงการอบรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และผู้ผลิตเข้าสู่มาตรฐานบังคับ เรื่องหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียน สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ.9070) ตั้งแต่เดือน เมษายน-สิงหาคม ให้แก่ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการการตรวจสอบมาตรฐาน เกษตรกร และสถาบันทางการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 387 ราย และในรูปแบบออนไลน์ จำนวน 1,500 ราย" เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ด้านนายจิตติ สุวรรณสังข์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน GAP อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า เริ่มแรกได้ทำเป็นสวนสมรม หรือสวนผสมผสานมีการปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน เงาะ มังคุด และลางสาด บนพื้นที่ 20 ไร่ ตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ตา ยาย ต่อมาได้มาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองมากว่า 25 ปี โดยผลผลิตที่ได้และเมื่อมีล้งเข้ามารับซื้อผลผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดเข้าตื่นตัวสู่กระบวนการผลิตทุเรียน GAP โดยสวนผ่านการตรวจประเมินและได้ใบรับรอง GAP ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค รวมทั้งช่วยยกระดับราคาสูงขึ้น ที่สำคัญทุกล้งจะเรียกหาใบรับรอง GAP จากสวนทุเรียน ปัจจุบัน ผลผลิตทุเรียน ปี 65-66 เฉลี่ย 1,800 กก./ไร่ ขณะที่ปี 67 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จึงทำให้ผลผลิตลดลง 30-35% หรือประมาณ 1,300 กก./ไร่ ซึ่งจะส่งให้กับล้งที่รับซื้อเพื่อส่งออกไปจีนเป็นหลัก และมีส่งออกไต้หวันและญี่ปุ่น แค่ 20%

...

ขณะที่ น.ส.หทัยชนก อรุณรักษ์ เจ้าของบริษัท เดอะเบสท์ 3310 อินเตอร์ ฟรุ๊ต จำกัด กล่าวว่า ได้รับช่วงต่อจากรุ่นพ่อ แม่ มาทำล้งทุเรียนได้ประมาณ 7 ปีแล้ว และได้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP มาโดยตลอด ซึ่งปริมาณผลผลิตทุเรียนที่รับซื้อจากเกษตรกรประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือเฉลี่ย 17-18 ตัน/ตู้คอนเทนเนอร์ โดยจะมีการคัดเกรด A B และ C เพราะแต่ละเกรดจะมีราคาที่แตกต่างกัน โดยอิงจากราคากลาง ที่สำคัญบริษัทฯจะรับซื้อทุเรียนจากสวนที่ได้รับ GAP เท่านั้น และเก็บเกี่ยวตามฤดูกาลที่ทางจังหวัดประกาศ แต่หากมีการเก็บเกี่ยวก่อน จะต้องมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งก่อนที่จะมีการส่งออก

"สำหรับมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.9070 บริษัทฯมีความพร้อมที่จะปรับให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว เพราะทุกล้งไม่ว่าจะล้งเล็กหรือใหญ่ จะต้องเข้าสู่เข้าเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด" น.ส.หทัยชนก กล่าว