ชาวบ้านสุดทน โรงกำจัดเก็บขยะเทศบาลเมืองพังงา มีท้องถิ่น 19 แห่ง นำขยะมาทิ้ง กองเป็นภูเขา ส่งกลิ่นเหม็น ถนนเป็นหลุมบ่อ น้ำเน่าไหลลงป่าชายเลนและลงทะเล ปู ปลาหนีหาย ชาวประมงต้องย้ายที่จอดเรือ


วันที่ 26 ก.ค. ชาวบ้านในหงบ หมู่ 3 ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา กว่า 10 คน นำสื่อมวลชนเข้าดูโรงเก็บขยะของเทศบาลเมืองพังงา พร้อมแจ้งเหตุความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บขยะในสถานที่ดังกล่าว ในกรณี พื้นที่จัดเก็บขยะที่มีจำนวนพื้นที่ 71 ไร่ 3 งาน ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณเกินจะรองรับ ไม่สามารถใช้วิธีฝังกลบได้ และพบว่าปัจจุบันมี ท้องถิ่น จำนวน 19 แห่ง ได้นำขยะมาทิ้งไว้ในบริเวณดังกล่าว มีขยะกว่า 50 ตันต่อวัน ส่งกลิ่นเหม็นกระทบความเป็นอยู่กับชาวบ้านในละแวกดังกล่าว 


อีกประเด็นในเรื่องของน้ำฝน ไหลรวมกับขยะไหลลงสู่บ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งตั้งติดกับป่าโกงกาง ป่าชายเลน ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ไหลลงสู่ทะเลอ่าวพังงา พบว่าก่อนหน้านี้มีชาวประมงพื้นบ้านใช้บริเวณป่าโกงกางเป็นท่าเทียบเรือ และหาสัตว์ในป่าโกงกางแห่งนี้ แต่ปัจจุบันสภาพน้ำเน่าเสียที่ไหลลงปะปนทำให้สัตว์น้ำสูญหาย ไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้ ชาวประมงพื้นบ้านต้องย้ายท่าเทียบเรือไปจอดที่อื่น 

...


ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องถนนที่ใช้สัญจรภายในหมู่บ้านเป็นหลุมบ่อ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านจำนวนกว่า 30 ครัวเรือนในพื้นที่บ้านในหงบประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน โดยเบื้องต้นทางชาวบ้านได้แจ้งให้ ผู้ใหญ่บ้าน และกำนัน ได้รับทราบแล้ว โดยจะมีการยื่นหนังสือความเดือดร้อนนี้ให้แก่ นายพีรพัฒน์ เงินเจริญ นายอำเภอเมืองพังงาในช่วงบ่ายวันนี้ (26 ก.ค.67) นอกจากนี้ทางตัวแทนชาวบ้านเตรียมเชิญ โฆษกกรรมาธิการด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เข้ารับเรื่องในวันที่ 28 ก.ค.67 ที่จะถึงนี้

นายสมคิด อินแก้วศรี ชาวบ้านในหงบผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวประมงพื้นบ้านจอดเทียบเรือไว้ในป่าโกงกางแห่งนี้แต่ปัจจุบันไม่สามารถจอดได้เนื่องจากน้ำเน่าเสียและกลิ่นเหม็นของขยะที่มีการทิ้งในพื้นที่ ปลา ปู กุ้ง หอย สัตว์น้ำไม่สามารถหาได้แล้วในพื้นที่ละแวกนี้


ขณะที่นายจักกรี เอียดยวง ชาวบ้านอีกรายที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโรงเก็บขยะของเทศบาลเมืองพังงา ในเรื่องปริมาณขยะล้นพื้นที่จัดเก็บส่งผลให้มีกลิ่นเหม็น อีกทั้งน้ำเน่าเสียไหลลงสู่ทะเลทำสัตว์น้ำลดน้อยลงและไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ชาวประมงหาสัตว์น้ำยากขึ้น และถนนเส้นทางเข้าหมู่บ้านมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดแนวเส้นทางเนื่องจากรถบรรทุกขยะวิ่งเข้าออกทำถนนพัง


น.ส.ชนัญธิดา พูดงาม ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.ค.67 ได้ประสานทาง โฆษกกรรมาธิการด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เข้ารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านจากสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


ด้าน นายไตรรัตน์ กลับคง รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองพังงา กล่าวว่า ทางจังหวัดพังงา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานกรรมการการจัดเก็บกำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดพังงา ได้มีการแก้ปัญหา โดยส่วนของเทศบาลเมืองพังงา ได้มีแผนแก้ปัญหาไว้ ปรับแบบแปลนในสถานที่ที่มีการจ้างเหมาขุดบ่อเก็บขยะสามารถรองรับขยะได้มากถึง 37,000 ตัน สามารถจัดเก็บได้ตามสัญญาจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ โดยทางจังหวัดอนุมัติให้เทศบาลตำบลลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จัดซื้อเตาเผากำจัดขยะซึ่งสามารถกำจัดขยะได้มากถึง 200 ตันต่อวัน รองรับขยะทั้งจังหวัดได้ซึ่งจะสร้างเสร็จสามารถดำเนินการได้ในปี 2571 


เบื้องต้น มีการพูดคุยขนย้ายขยะ ไปกำจัดที่โรงกำจัดขยะที่กระบี่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ส่วนปัญหาน้ำเน่าเสียจากบ่อบำบัดทางเทศบาลเมืองพังงาได้รับการแนะนำจากสำนักงานควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ 15 แนะนำให้ดำเนินการตามแนวทาง แต่ในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดปัญหากฎหมายผังเมืองรวมห้ามไม่ให้มีโรงงานในพื้นที่ การใช้เครื่องจักรในการบำบัดน้ำเสียเข้าหลักเกณฑ์โรงงานจึงไม่สามารถทำได้