29 มิถุนายน 2566 ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ได้ออกกฎ... หลังวันที่ 31 ธ.ค.2567 ห้ามนำสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่การตัดไม้ทำลายป่า เข้าไปขายในสหภาพยุโรป โดยพุ่งเป้าไปที่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ เนื้อวัว และไม้เศรษฐกิจ
“กฎนี้จะบังคับใช้ในวันสิ้นปีนี้แล้ว ต้องยอมรับเรามีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ต้องพาพี่น้องเกษตรกร ร้อยละ 80 เป็นเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์มน้ำมัน หลายล้านคน ที่ปลูกยางและปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ กว่า 28 ล้านไร่ นอกจากภัยแล้ง การจัดหาน้ำ ลดต้นทุนปุ๋ย เราก็ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคของกฎ EUDR ข้อนี้ไปด้วยกัน”
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกถึงความกังวล ในเรื่องเกษตรกรส่วนใหญ่ของเรา เป็นเกษตรกรรายย่อย ยากที่จะปฏิบัติตามกฎได้ เพราะต้องอาศัยเอกสารหลักฐานยืนยัน ที่ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และต้องถูกต้องตามกฎหมาย เกินความสามารถของพี่น้องเกษตรกรรายย่อย
...
“การทำเกษตรของบริษัทใหญ่ๆ ผมไม่กังวล อันนั้นเขารู้วิธีและมีเครื่องมือดำเนินการ แต่เกษตรกรรายย่อยไม่มีเครื่องมือในการกำหนดพิกัดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของที่ตั้งที่ดิน ข้อกำหนดที่เข้มงวดของ EUDR ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องอาศัยข้อมูลจากเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ต้องแยกแยะให้ได้ว่ายางแผ่น ยางแท่ง น้ำมันปาล์ม ได้มาจากที่ดินแปลงใด ที่ดินได้ครอบครองอย่างผิดกฎหมายหรือเป็นที่ป่าหรือไม่ จะต้องมีหน่วยงานให้การรับรอง ต้องมีการจัดทำเอกสารที่ค่อนข้างซับซ้อน เพื่อให้ทางยุโรปเกิดความมั่นใจ”
รมว.เกษตรฯ บอกว่า โดยเนื้อแท้ของกฎ EUDR ของสหภาพยุโรปนั้น ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายกับพี่น้องเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุล วิธีการดำเนินการจะต้องทำควบคู่ไปกับการทำตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เกิดสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น... สำหรับปาล์มน้ำมันสามารถทำทั้งคาร์บอนเครดิตและ RSPO หรือการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย จะทำให้มีรายได้เพิ่มมาชดเชยกับรายจ่าย
“ผมจึงมีแนวคิดที่จะทำ “การเกษตรคาร์บอนรักษ์โลก” เพื่อเป็นแรงจูงใจสร้างรายได้ชดเชยไปพร้อมกันเลย แนวคิดนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่วงการเกษตรและทำให้พี่น้องชาวสวนปาล์ม ชาวสวนยาง ชาวนา ชาวไร่ ได้มีส่วนในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนี่เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของพี่น้องเกษตรกร ที่นอกจากจะมีภาพเป็นเกษตรกรชั้นแนวหน้าของโลกที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อให้เกิดการยกระดับรายได้อีกทางหนึ่งด้วย”
...
ร.อ.ธรรมนัส ยกตัวอย่าง ปี 2560 ครั้งที่พวกฝรั่งเข้าไปช่วยเกษตรกรรายย่อยในแอฟริกาเพื่อลดการทำลายป่า ได้ริเริ่มโครงการตลาดคาร์บอนแห่งแอฟริกาขึ้นมา เรียกว่า Africa Carbon Market Initiative (ACMI) โดยใช้งบประมาณจากสหภาพยุโรป 3,200 ล้านบาท และโครงการนี้ได้ผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยในแอฟริกามาอยู่แถวหน้าของการรักษาป่าและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่เกษตรกรได้สร้างขึ้น
“เมื่อไทยเราไม่อาจเลี่ยงกฎของ EUDR ได้ ผมจึงถือเป็นโอกาสของพี่น้องเกษตรกร ที่จะริเริ่มโครงการ “การเกษตรคาร์บอนรักษ์โลก” ผมมีแนวคิดที่จะตั้งหน่วยงานลงไปช่วยเหลือข้อมูลทางเทคนิค พัฒนาระบบแพลตฟอร์มในการช่วยกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ ใช้เทคโนโลยีช่วยเกษตรกรรายย่อย รวมถึงสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ ตามข้อกำหนดของ EUDR”
โดยจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนหรือหากลไกกองทุน เพื่อเป็นทางเลือกช่วยสนับสนุนทางการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้พี่น้องสามารถปฏิบัติตามกฎของสหภาพยุโรปได้สำเร็จ รวมถึงระบบรับประกันการขายคาร์บอนเครดิต และประสานในการจัดทำ “เกษตรคาร์บอนพันธะสัญญา” กับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาตลาดคาร์บอนให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อย
...
นอกจากเป็นการทำตามกฎ EUDR ที่น่าท้าทายแล้ว ยังจะเป็นการผลักดันให้พี่น้องเกษตรกรไทย ได้มีโอกาสเพิ่มรายได้ และเป็นเกษตรกรระดับอินเตอร์รักษ์โลกเหมือนประเทศอื่นกับเขาบ้าง.
ชาติชาย ศิริพัฒน์