เลขาฯ ศอ.บต. สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาโคไม่ได้มาตรฐาน ตามโครงการ "โคบาลชายแดนใต้" ขอประชาชนอย่ากังวล เผยพร้อมจับมือทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาโดยด่วน

จากกรณีเกษตรกร จ.ปัตตานี ที่เข้าร่วมโครงการ "โคบาลชายแดนใต้" ประสบปัญหาได้รับโคไม่ได้มาตรฐาน ผอมแห้ง และบางส่วนเป็นโรค ที่ปรากฏตามข่าว ซึ่งโครงการโคบาลชายแดนใต้ เป็นโครงการที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมโคในพื้นที่ชายแดนใต้ให้เป็นพื้นที่อาหารฮาลาล ส่งออกตลาดโลกมุสลิม

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 67 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาฯ ศอ.บต. ยืนยันว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีเจตนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยแท้จริง แม้ว่าโครงการได้ดำเนินการในปี 2565 ก่อนที่ตนจะเข้ารับตำแหน่งก็ตาม แต่เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน ศอ.บต.พร้อมน้อมรับ และจะร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการ พร้อมติดตามการเลี้ยงโคทั้ง จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.สตูล ที่ได้รับโคไปแล้วอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มิได้มีเป้าหมายหรือเจตนาจับผิดฝ่ายใด แต่ต้องการรวบรวมปัญหาต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไข และไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำในอนาคต

"ศอ.บต.มีข้อห่วงใยกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัวไม่ตรงสเปก มีคุณลักษณะไม่ตรงตามที่โครงการกำหนด ไม่มีบัตรประจำตัวสัตว์ ประวัติการฉีดวัคซีน หรือความคับข้องใจที่ประชาชนได้รับในการดำเนินงานของภาครัฐ พร้อมดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งจะทำหน้าที่สรุปประเด็นปัญหา และหาแนวทางแก้ไขตามลำดับ ขอให้เกษตรกรอย่าได้กังวล ศอ.บต.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแก้ไขปัญหา และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับให้เร่งดำเนินการเช่นเดียวกัน" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว

...

สำหรับการส่งมอบโคแก่เกษตรกร ในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ภาครัฐร่วมกับเอกชน ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรใน จ.ปัตตานี 800 ตัว เมื่อเดือน พ.ย. ที่ จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ธ.ค. จำนวน 800 ตัว และที่ จ.สตูล 400 ตัว เมื่อเดือน เม.ย. 2566 สำหรับ จ.สงขลา และ จ.ยะลา ยังไม่มีการจัดส่งวัว เวลานี้มีการเบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 37,601,700 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.43.