“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้มีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ขยายผลในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มข้นของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน และเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้ง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จะจัดงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ในวันที่ 20-21 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศใน 6 เมกะเทรนด์หลัก ที่สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนจากท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก”

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ สวก. อธิบายถึงความหมายของ 6 เมกะเทรนด์ ที่ สวก.วางเป้าในการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนอนาคตภาคเกษตรไทย จะประกอบไปด้วย

1.การเกษตรแบบยั่งยืน (Agri for sustainable) มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจ โครงการวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพื่อการกลับมาเลี้ยงใหม่ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแนวทางจัดการความเสี่ยง ร่วมกับการประเมินความเสี่ยงควบรวมเป็นข้อมูลสื่อสารความเสี่ยงในการปรับปรุงโครงสร้างและการจัดการการกลับมาเลี้ยงใหม่ได้ยั่งยืน

...

2.อาหารและเครื่องดื่ม (Food and baverage) มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจ ประสิทธิภาพการผลิตน้ำผึ้งโพรงในมะพร้าวทับสะแก ของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ทำให้ได้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 580.20 ± 23.370 กรัมต่อรัง ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร น้ำผึ้ง พ.ศ.2556 จนเกิดเป็นสินค้าชนิดใหม่ สร้างรายได้เสริมแก่ผู้ปลูกมะพร้าวหมุนเวียนสู่ชุมชน และเกิดกิจกรรมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

3.กาแฟและชา (Coffee and Tea) ผลงานวิจัยที่น่าสนใจ โครงการยกระดับความสามารถชุมชนเทพเสด็จด้วยการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากของเสียในกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟและการจัดการแบบองค์รวม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สามารถนำของเสียจากกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ ไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ เช่น เชอร์รีกาแฟแช่อิ่มอบแห้ง คีเฟอร์เชอร์รีกาแฟ เป็นต้น

4.โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG) ผลงานวิจัยที่น่าสนใจ โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดเปลือกมังคุดเป็นแป้งและสเปรย์ดับกลิ่นเท้า และผลิตภัณฑ์เซรั่มและมาส์กพอกหน้าข้ามคืนจากสารสกัดเปลือกและเมล็ดทุเรียน ของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร จนทำให้วิสาหกิจชุมชนต้นแบบคลองน้ำเค็มทันใจ ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี สามารถนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปดัดแปลงผลิตขายเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “กันเกา พาวเดอร์” จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “we” ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

...

5.สุขภาพและความงาม (Health and Beauty) ตัวอย่างผลงานวิจัยที่น่าสนใจ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผสมสารสกัดดอกไม้ไทยเพื่อช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสและกระชับผิว ของภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการศึกษาคุณภาพและความคงตัวของสารสกัดดอกไม้ไทย 3 ชนิด กุหลาบ บัวหลวง และบุนนาค แล้วนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผสมสารสกัดดอกไม้ไทย 6 ชนิด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เจลอาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ผลิตภัณฑ์มาส์กหน้าชนิดไม่ล้างออก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวยามค่ำคืน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความคงตัวและมีประสิทธิภาพที่ดี และปลอดภัยต่อการนำไปใช้

6.เทคโนโลยีและการเกษตร (Agri– Tech) ตัวอย่างผลงานวิจัยที่น่าสนใจ โครงการวิจัยเครื่องวิเคราะห์ความอ่อนแก่ทุเรียนอย่างไม่ทำลาย รุ่นที่ 3 และเครื่องวิเคราะห์คุณภาพเนื้อทุเรียน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผลงานเพื่อตอบสนองตลาดของผู้ประกอบการทุเรียนแปรรูป สามารถวิเคราะห์ค่าน้ำหนักเนื้อแห้ง (DM) และความหวานได้อย่างรวดเร็วและไม่ทำลาย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถคัดเกรดได้ด้วยตัวเอง และผู้บริโภคก็สามารถเลือกซื้อรสชาติตามที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐประเมินคุณภาพภาคสนามได้อีกด้วย.

...

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม