จากปัญหาทุเรียนภาคใต้ที่ส่งออกไปประเทศจีน ถูกทางการจีนตีกลับเนื่องจากพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนให้ทางการไทยให้ตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนที่พบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดในทุกชิปเมนต์ จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย

“ในช่วงต้นฤดูฝนมักจะพบการระบาดทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสูงมาก เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ดินนิ่ม ดักแด้หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดินจะฟักตัวออกมา และทำลายภายในผลทุเรียน แต่เมื่อมองจากภายนอกผลจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย

ปัญหานี้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา ทำให้เกษตรกรขายทุเรียนได้ในราคาที่ต่ำลง และขาดความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค โดยในปีที่ผ่านมาเกษตรกรพื้นที่จังหวัดยะลาประสบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมด”

...

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า จังหวัดยะลามีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น ปี 2566 มีพื้นที่ปลูก 96,234 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 66,788 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตจะมีประมาณ 89,661 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรยะลากว่า 10,000 ล้านบาท

สำหรับในฤดูกาลผลิตปี 2566 สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ได้เร่งสร้างการรับรู้และเตือนภัยเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนให้เฝ้าระวัง ป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ด้วยวิธีการผสมผสาน ตั้งแต่ระยะการพัฒนาผลอ่อนเพราะเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่หนอนจะเจาะเมล็ดทุเรียนเข้าไป

โดยสนับสนุนวัสดุองค์ความรู้และการใช้นวัตกรรมใหม่ “ทุเรียนในแสงไฟ” เป็นการใช้ไฟแสงขาวจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ไล่ผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ

สำหรับวิธีการผสมผสานในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แนะให้เกษตรกรสำรวจติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ด โดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟ หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2-3 วัน ควรตรวจดูทุกวัน

หากพบผีเสื้อหนอนเจาะทุเรียน ให้ใช้ไฟแสงขาวไล่ผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน พร้อมกับห่อผลทุเรียนโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่น เจาะรูที่บริเวณขอบล่าง เพื่อให้หยดน้ำระบายออก จะสามารถช่วยป้องกันผีเสื้อตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้

โดยให้เริ่ม ห่อตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุได้ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ก่อนห่อผลควรตรวจสอบและป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง อย่าให้มีติดอยู่กับผลที่จะห่อ

...

รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังทุเรียนติดผลแล้ว หากพบผลที่ถูกทำลายหรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ด ควรเก็บผลร่วงไปเผาทำลายทิ้งนอกสวนทุกวัน เพื่อลดจำนวน เนื่องจากหลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน หนอนที่อยู่ภายในผลจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน แล้วจะพัฒนาไปสู่การเป็นตัวเต็มวัยที่จะมาวางไข่ต่อไป

ส่วนการป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงเมื่อเริ่มพบตัวเต็มวัย สารเคมีที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ คือ ไซเพอร์เมทริน+โฟซาโลน อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน และไม่ควรใช้สารเคมีชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรมีการสลับชนิดเพื่อป้องกันศัตรูพืชดื้อสารเคมี.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม