สัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 41 ชูประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ รอง เลขาฯ กพฐ. ชื่นชม “ไทยรัฐ” จัดการเรียนการสอนสร้างสมรรถนะ 5 ด้านแก่ผู้เรียน แนะเติมเต็มบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ด้าน ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมในชุมชน หวังผลิตเด็กไทยเข้าใจประวัติศาสตร์เชื่อมโยงอนาคต พัฒนาชาติ

ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์ สปา สงขลา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. มูลนิธิไทยรัฐจัดประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 41 “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” มี ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา (กพฐ.) เป็นประธานเปิดงาน นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา น.ส.จิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่ บริหารสายงานคอนเทนต์ บริษัท ทริปเปิล วี บรอด คาสท์ นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ คณะกรรมการมูลนิธิ และผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ 111 โรงเรียน เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประวัติศาสตร์การพัฒนาชาติ” โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต และ น.ส.ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา ข้าราชการบำนาญ กระทรวงศึกษาธิการด้วย

ทั้งนี้ นายมานิจกล่าวว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 111 โรงเรียน ก่อตั้งขึ้นโดยนายกำพล วัชรพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ การประชุมสัมมนาทางวิชาการผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ จัดขึ้นทุกปีโดยความร่วมมือของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา คณะกรรมการร่วมพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนา ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2563-พ.ศ.2566) และจัดให้มีการสอนเป็นพิเศษขึ้น 2 วิชา คือวิชาความรู้เรื่องสื่อมวลชน และวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ในปีการศึกษา 2566 จะมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 19 ธ.ค.2565 เรื่อง “การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่ม สาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” ด้วยเหตุนี้ชื่อหัวข้อในการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้จึงชื่อ ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ

...

ด้าน ดร.เกศทิพย์กล่าวเปิดงานพร้อมกล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง การนำวิชาประวัติศาสตร์ไปสอนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ตอนหนึ่งว่า สพฐ.มีความยินดีและเห็นถึงความตั้งใจและความอนุเคราะห์ที่มูลนิธิไทยรัฐได้ดำเนินการพัฒนาการศึกษากับโรงเรียนไทยรัฐวิทยามาอย่างเนิ่นนาน ทั้งในเรื่องของการดูแล การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาในทุกรูปแบบ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน คุณครู บุคลากรทางการศึกษา จากวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ตั้งแต่เรื่องหลักสูตรมวลชนศึกษา เป็นหลักสูตรที่แสดงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ไม่มีวันล้าสมัย และติดตัวเด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในลักษณะอันพึงประสงค์

“โรงเรียนไทยรัฐวิทยาหลายแห่งมีผลงานเชิงประจักษ์ และเป็นต้นแบบได้หลายๆเรื่อง อย่างทักษะอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน หรือความรู้ของคุณครู แต่สามารถไปประกวดสร้างความภาคภูมิใจ เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ส่วนในเรื่องของประวัติศาสตร์ในการพัฒนาชาตินั้น สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ รู้สึกถึงความทันสมัย คือทางมูลนิธิไทยรัฐและโรงเรียนไทยรัฐวิทยามีการเชื่อมระหว่างเรื่องราวในอดีตนำไปสู่เรื่องอนาคตได้อย่างดี ทุกสิ่งเป็นประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติเป็นสิ่งสำคัญมาก และได้มีการดำเนินการเรื่องเหล่านี้จริงๆ ทุกเรื่องราวในอดีต คือความสำเร็จที่จะนำมาใช้ในอนาคตได้ และเป็นคำตอบของประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังเดินทางไปด้วยกัน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ทันสมัยและลงมือปฏิบัติร่วมกัน เครือข่ายที่เข้มแข็ง” ดร.เกศทิพย์กล่าว

ดร.เกศทิพย์กล่าวอีกว่า สพฐ.จะนำไปเป็นต้นแบบแก่โรงเรียนทั่วประเทศเช่นกัน และมั่นใจว่าการขับเคลื่อนความเจริญของประเทศต้องผ่านหลักสูตรที่เป็นลักษณะเพื่อการพัฒนาชาติ เกิดความสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคตของประเทศไทย สำหรับการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ในปี 2565 ได้มีการปรับหลักสูตร 8+1 มุ่งเน้นการสอนแบบมีกิจกรรมไม่ใช่การท่องจำ โดย สพฐ.กำหนดแนวทางขับเคลื่อนประวัติศาสตร์เพื่อลงสู่นักเรียนผ่าน 3 กระบวนการ คือ 1.เน้นวิธีการสอนและกระบวน การเรียนรู้ แบบ Active learning เพื่อให้นักเรียนได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติ 2.ไม่เน้นการท่องจำ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการใช้เทคโนโลยี และ 3.การบูรณาการแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ชุมชน ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น

“จากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สนองต่อความสนใจและศักยภาพของนักเรียน ที่สำคัญทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น ลดโอกาสในการซึมเศร้า และเพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น การบ่มเพาะนักเรียนเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหาร ครู และสถานศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ดร.เกศทิพย์กล่าวและว่า การนำวิชาประวัติศาสตร์ไปสอนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยาพบว่า การจัดการเรียนการสอนของไทยรัฐวิทยาทำให้เด็กมีสมรรถนะ 5 ประการ ตามที่ สพฐ.กำหนดไว้อยู่แล้ว คือความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่อยากให้มีการเติมเต็มนำไปสู่นักเรียนทุกคน ทำอย่างไรให้เกิดการบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์ สุจริต 3.มีวินัย 4.ใฝ่เรียนรู้ 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย และ 8.มีจิตสาธารณะ ซึ่งในเรื่องนี้รวมเป็นกลุ่มวิชาหรือใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อทำให้เห็นถึงคุณค่าในชุมชน และได้เรียนรู้จากปราชญ์ชุมชนได้

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หลักสูตรเสริมสร้างคุณลักษณะของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้งในส่วนของหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา มีการส่งเสริมความสามารถในด้านการสื่อสาร การอ่านเพื่อจับประเด็นสำคัญจากสื่อและสื่อสารอย่างเข้าใจ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เห็นคุณค่าตนเองนำไปสู่ความเป็นผู้นำ และไม่ซึมเศร้า กับหลักสูตรความเป็นพลเมืองดี เป็นการทำให้เกิดการบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนั้นการต่อยอด Active learning สามารถบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์เข้าไปในหลักสูตร รวมถึงมีการ ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติ อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่ผู้บริหาร คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอให้ตั้งใจในการดำเนินการ เพื่อนำไปสู่ผลผลิตคือนักเรียน

...