รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวเปิดการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 41 “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” ชื่นชม “ไทยรัฐ” จัดการเรียนการสอนสร้างสมรรถนะ 5 ด้านแก่ผู้เรียน แนะเติมเต็มบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้ง 8 ด้าน ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมในชุมชน หวังผลิตเด็กไทย เข้าใจประวัติศาสตร์เชื่อมโยงอนาคต พัฒนาชาติ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 ที่โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์ สปา สงขลา จังหวัดสงขลา มูลนิธิไทยรัฐ ได้จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 41  “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” โดยมี ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา (กพฐ.) เป็นประธานเปิดงาน มีนายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา น.ส.จิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ คณะกรรมการมูลนิธิ และผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั่วประเทศ จำนวน 111 โรงเรียนเข้าร่วมงาน

...

นายมานิจ กล่าวว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 111 โรงเรียน ก่อตั้งขึ้นโดยนายกำพล วัชรพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ การประชุมสัมมนาทางวิชาการผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ จัดขึ้นทุกปีโดยความร่วมมือของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา คณะกรรมการร่วมพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยได้กำหนดแผนพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนพัฒนา ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2563-พ.ศ.2566) และจัดให้มีการสอนเป็นพิเศษขึ้น 2 วิชา คือ วิชาความรู้เรื่องสื่อมวลชน และวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ในปีการศึกษา 2566 จะมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 19 ธ.ค.2565 เรื่อง “การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่ม สาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน”ขึ้น ด้วยเหตุนี้ชื่อหัวข้อในการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้จึงชื่อ ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ

ทั้งนี้ ดร.เกศทิพย์ กล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษ  เรื่อง “การนำวิชาประวัติศาสตร์ไปสอนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา” ว่า ในนามของ สพฐ.มีความยินดี และเห็นถึงความตั้งใจ และความอนุเคราะห์ที่ทางมูลนิธิไทยรัฐได้ดำเนินการพัฒนาการศึกษากับโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มาอย่างเนิ่นนาน ทั้งในเรื่องของการดูแล การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาในทุกๆ รูปแบบ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน คุณครู บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเหตุให้ทาง สพฐ.เห็นความสำคัญ และให้เกียรติแก่ทางมูลนิธิไทยรัฐอย่างมาก

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า จากที่ตนเองได้มีโอกาสเป็นผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล และทำงานร่วมกับทางมูลนิธิไทยรัฐ ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทยรัฐในการปฏิบัติในทุกเรื่อง รวมถึงด้านวิชาการ ที่สร้างหลักสูตร และทำให้เกิดการปฏิบัติ ที่ทำให้ครูได้รับชั่วโมง และการคิดทำให้ครูและนักเรียน มีบรรยากาศการทำงานอย่างมีคุณภาพเต็มที่ เราเห็นการดำเนินงานของไทยรัฐต่อโรงเรียนไทยรัฐวิทยามาโดยตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ได้รับโอกาสมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ จากวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ตั้งแต่เรื่องหลักสูตรมวลชนศึกษา เป็นหลักสูตรที่แสดงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ไม่มีวันล้าสมัย และติดตัวเด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา โชคดีที่มีทางไทยรัฐเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ และทำให้ประโยชน์ขับเคลื่อนเป็นเรื่องเดียวกับทาง สพฐ.ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เมื่อได้รับการรายงานจากมูลนิธิไทยรัฐ จะเห็นได้ว่า 40 ปีที่ทางโรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้ดำเนินการ และมีการอบรมมาต่อเนื่องทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ 41 มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระในทุกปี ออกมาเป็นระบบการทำงานที่ทุกคนชื่นชม และทุกคนมีความตั้งใจในการทำงาน และเป็นแบบอย่างในการทำงานของ สพฐ. ทั้งเรื่องการกำหนดการ การเตรียมความพร้อม และการพัฒนาที่ไปถึงตัวของผู้เรียนอย่างแท้จริง

...

"โรงเรียนไทยรัฐวิทยาหลายแห่ง มีผลงานเชิงประจักษ์ และเป็นต้นแบบได้หลายๆ เรื่อง อย่าง ทักษะอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน หรือความรู้ของคุณครู แต่สามารถไปประกวดสร้างความภาคภูมิใจ เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ส่วนในเรื่องของเรื่องประวัติศาสตร์ในการพัฒนาชาตินั้น โดยส่วนตัวรู้จักประวัติศาสตร์มาพอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ รู้สึกถึงความทันสมัย คือ ทางมูลนิธิไทยรัฐ และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ได้มีการเชื่อมระหว่างเรื่องราวในอดีตนำไปสู่เรื่องอนาคตได้อย่างดี ทุกสิ่งเป็นประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติเป็นสิ่งสำคัญมาก และได้มีการดำเนินการเรื่องเหล่านี้จริงๆ ทุกเรื่องราวในอดีต คือ ความสำเร็จที่จะนำมาใช้ในอนาคตได้ และเป็นคำตอบของประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังเดินทางไปด้วยกัน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่ทันสมัยและลงมือปฏิบัติร่วมกัน โดยเครือข่ายที่เข้มแข็ง ในนามของ สพฐ.รู้สึกขอบคุณ และจะนำไปเป็นต้นแบบแก่โรงเรียนทั่วประเทศเช่นกัน และมั่นใจในว่าการขับเคลื่อนความเจริญของประเทศต้องผ่านหลักสูตรที่เป็นลักษณะเพื่อการพัฒนาชาติ เกิดความสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขอให้การสัมมนาสำเร็จลงด้วยดีเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนไทยรัฐวิทยาต่อไป”

ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. มีมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งในปี 2565 ได้มีการปรับหลักสูตร 8+1 โดยมุ่งเน้นการสอนแบบมีกิจกรรมไม่ใช่การท่องจำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละรายวิชา โดยสพฐ. ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ เพื่อลงสู่นักเรียน ผ่าน 3 กระบวนการ คือ 1. เน้นวิธีการสอนและกระบวนการเรียนรู้ แบบ Active learning เพื่อให้นักเรียนได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติ 2.ไม่เน้นการท่องจำ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการใช้เทคโนโลยี และ 3. การบูรณาการแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ชุมชน ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น จากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว จะทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สนองต่อความสนใจและศักยภาพของนักเรียน ที่สำคัญทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น ลดโอกาสในการซึมเศร้า และเพิ่มมูลค่าสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งการบ่มเพาะนักเรียนเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้บริหาร ครู และสถานศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

...

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่าการนำวิชาประวัติศาสตร์ไปสอนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา พบว่าการจัดการเรียนการสอนของไทยรัฐวิทยา ทำให้เด็กมีสมรรถนะ 5 ประการ ตามที่ สพฐ.กำหนดไว้อยู่แล้ว นั่นคือ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี แต่สิ่งที่อยากให้มีการเติมเต็มนำไปสู่นักเรียนทุกคน ทำอย่างไรให้เกิดการบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ 1.รักชาติศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์ สุจริต 3.มีวินัย 4.ใฝ่เรียนรู้ 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทยและ 8.มีจิตสาธารณะ ซึ่งในเรื่องนี้รวมเป็นกลุ่มวิชา หรือใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อทำให้เห็นถึงคุณค่าในชุมชน และได้เรียนรู้จากปราชญ์ชุมชนได้ ทั้งนี้ หลักสูตรเสริมสร้างคุณลักษณะฯ ของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้งในส่วนของหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา ซึ่งมีการส่งเสริมความสามารถในด้านการสื่อสาร การอ่านเพื่อจับประเด็นสำคัญจากสื่อ และสื่อสารอย่างเข้าใจ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เห็นคุณค่าตนเองนำไปสู่ความเป็นผู้นำ และไม่ซึมเศร้า กับหลักสูตรความเป็นพลเมืองดี เป็นการทำให้เกิดการบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนั้น การต่อยอด Active learning สามารถบูรณาการแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์เข้าไปได้หลักสูตร รวมถึงมีการใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้เป็นห้องเรียนรวมรายวิชา เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาชาติ อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ที่ผู้บริหาร คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอให้ตั้งใจในการดำเนินการเพื่อสู่ผลผลิตคือนักเรียน.

...