วช. ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี "โดรนแปรอักษร" แก่เยาวชนภาคใต้ ผลักดันการเรียนรู้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หวังต่อยอดแรงบันดาลใจ สร้างอาชีพในอนาคต 

 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม "การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน" ภาคใต้ ครั้งที่ 3 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ พร้อมด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ร่วมในพิธี เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ "โดรนแปรอักษร" และการพัฒนาซอฟต์แวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นหัวหน้าโครงการฯ พร้อมนี้ นายสมชาติ ไกรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ นายชุมพล อมตวิทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนอุตรกิจ และคณะผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมในพิธีเปิดการอบรมฯ ณ โรงเรียนอุตรกิจ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 

...

   

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับโดรนเพื่อการใช้ประโยชน์ ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการใช้โดรน ทั้งด้านการถ่ายภาพทางอากาศ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการสร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างโดรนแปรอักษร ที่ประสบผลสำเร็จ และในการพัฒนาคิดค้นซอฟต์แวร์ดังกล่าว ยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย  

 

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับโดรนแปรอักษร และการพัฒนาซอฟต์แวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของภาคใต้ ณ โรงเรียนอุตรกิจ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม 2566 โดยมีเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมมากกว่า 100 คน   

   

นอกจากนี้ ผู้ที่เคยได้รับการถ่ายทอดความรู้ และมีประสบการณ์ในการอบรมและนำความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินและโดรน ได้แก่ คุณครูธีระวัฒน์ ทองแผ้ว จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล และคุณครูสมพงศ์ สมบูรณ์ จากโรงเรียนบ้านแหลมโพธิ์ พร้อมด้วย น้องมุมิน หรือ ด.ช.มุมิน สมบูรณ์ ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้โดรนแปรอักษร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน ที่เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ด้วย  

...

 

สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จนประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร กล่าวได้ว่าเป็น "โดรนแปรอักษร" ฝีมือคนไทย ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และแพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรในภาคใต้ มีกำหนดจัดขึ้นใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ และปิดท้ายของภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ