ผู้ว่าฯ พังงา สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพื้นที่เสี่ยงภัย 8 อำเภอ เตรียมรับมือฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และในช่วงวันที่ 24-27 ก.ค. 66 ทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรงพัดเข้าหาฝั่งสูง 2-3 เมตร

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่จังหวัดพังงา ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องประกอบกับทะเลมีคลื่นลมแรง หลังจากทางอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดำมันตอนบนและภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของบริเวณจังหวัดระนองและพังงา ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันตอนบน ในช่วงวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2566 ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง และขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตกอย่างใกล้ชิด

...

สำหรับจังหวัดพังงา ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในพื้นที่ 8 อำเภอเสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา จึงขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณภัย ดำเนินการดังนี้

1. ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนตกสะสม โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ติดแม่น้ำลำคลอง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลาดเชิงเขาอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงออกประกาศติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล ให้เฝ้าระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง สำหรับชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร ให้ตรวจอุปกรณ์ความปลอดภัยให้มีความพร้อมก่อนออกเดินเรือ และแนะนำการเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง


2. วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาวะอากาศปริมาณฝน สภาพน้ำท่า และปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อประสานและบูรณาการหน่วยงาน เครือข่าย จิตอาสา ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงกำลังเจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานบรรเทาภัยอำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ หากเกิดสาธารณภัย ให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของจังหวัดพังงาอย่างเคร่งครัด พร้อมให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และรายงานสถานการณ์ทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลง.