อาจารย์สาวสอนฟิสิกส์ มรภ.สุราษฎร์ธานี กระโดดน้ำฆ่าตัวตายในบึงขุนทะเล ร่างลอยอืด แม่ผู้ตายมาดูศพร่ำไห้เผยลูกสาวมีอาการซึมเศร้า ก่อนหายตัวบ่นกับน้องสาวเป็นฝาแฝด เครียดเรื่องงานแล้วหนีออกจากบ้าน ขณะที่ผู้บริหาร มรภ.สุราษฎร์ฯเผยบุคลากรทางการศึกษาต้องมีผลงานทางวิชาการตามมาตรฐานของแต่ละคน ผู้ตายป่วยโรคซึมเศร้า ยืนยันไม่ได้กดดันเรื่องงาน
เหตุอาจารย์สาวเครียดกระโดดน้ำเสียชีวิต เปิดเผยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ก.ค. พ.ต.ท.กิตติพล จุลศักดิ์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี รับแจ้งเหตุพบผู้เสียชีวิตในบึงขุนทะเล ต.มะขามเตี้ย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ไปตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และอาสาหน่วยกู้ภัยมูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมตรวจสอบ
ที่เกิดเหตุเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ภายในสวน สาธารณะบึงขุนทะเล พบรองเท้าแตะผู้หญิงสีดำวางอยู่ริมรั้ว 1 คู่ ห่างจากตลิ่งไปประมาณ 30 เมตร พบผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิงใส่เสื้อยืดสีเหลือง นุ่งกางเกงขายาว สภาพคว่ำหน้า เจ้าหน้าที่กู้ภัยพายเรือนำศพ ขึ้นฝั่ง ทราบชื่อ ผศ.ดร.ปริศนา รักบำรุง อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 147/216 หมู่ 6 ต.มะขามเตี้ย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เป็นอาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป (ฟิสิกส์) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แพทย์ชันสูตรศพเบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ตามร่างกายไม่พบร่องรอยบาดแผล นำส่งตรวจชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้งที่แผนกนิติเวช รพ.สุราษฎร์ธานี
ต่อมานางพัชรี รักบำรุง แม่ผู้เสียชีวิตเดินทางมาที่เกิดเหตุเห็นศพลูกสาวร่ำไห้พร้อมเปิดเผยว่า ลูกสาวเป็นคนโสดมีอาการซึมเศร้าชอบเก็บตัว ก่อนเกิดเหตุลูกคุยกับน้องสาวที่เป็นฝาแฝดว่ามีความเครียดเรื่องการทำงาน กระทั่งเวลา 03.00 น. วันที่ 18 ก.ค. ลูกหายออกจากบ้าน คนในครอบครัวออกตามหาแต่ไม่พบ กระทั่งมีผู้มาพบว่าลูกสาวเสียชีวิตอยู่ในบึงขุนทะเล คาดเกิดความเครียดเรื่องงานและปัญหาส่วนตัว
...
ขณะที่ ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันอาชีพที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาจะต้องทำผลงานทางวิชาการ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา โดยเฉพาะ มรภ.สุราษฎร์ธานี มีบุคลากรทางการศึกษา 509 คน มีผู้ที่มีผลงานทางวิชาการเพียง 180 คน หรือประมาณร้อยละ 34 ข้อกำหนดมีอยู่ว่าสถาบันการศึกษาจะต้องมีผู้ที่มีผลงานทางวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จำเป็นที่บุคลากรทางการศึกษาจะต้องเร่งทำผลงานทางวิชาการให้เป็นไปตามเกณฑ์ แต่ยืนยันว่าในส่วนของมหาวิทยาลัยไม่ได้เข้าไปกดดัน เพื่อให้มหาวิทยาลัยเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่เชื่อว่าทุกคนต่างจะต้องเร่งทำผลงานตามมาตรฐานของตน โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย ในการจ้างแต่ละคนจะมีสัญญาว่าจ้างเหมือนกับการวางกฎกติการ่วมกัน อย่างเช่น ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายใน 3 ปีจะต้องมีผลงานทางวิชาการ หรือระดับรองศาสตราจารย์ ภายใน 5 ปีจะต้องทำผลงาน จะต้องดูในสัญญาว่าจ้างของแต่ละคน เข้าใจว่าทุกคนมีความเครียด แต่จะมากน้อยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะแต่ละบุคคล
ผศ.ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการทำผลงานทางวิชาการทางมหาวิทยาลัยไม่ได้กดดัน และร่วมกันผลักดันและส่งเสริม ในกรณีของ ผศ.ดร.ปริศนาทราบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ปัญหาที่เข้ามากระทบจิตใจจนทำให้ก่อเหตุดังกล่าว ไม่สามารถระบุว่าความเครียดมาจากการทำงานนั้นมาจากเรื่องใด ขอแสดงความเสียใจกับญาติด้วย