ภาพประกอบจากแฟ้มข่าว

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช สั่ง ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี นายกเทศมนตรี และเทศบาลนครเกาะสมุย เร่งแก้ปัญหามลพิษจากบ่อขยะของเทศบาลฯ ให้เสร็จภายใน 180 วัน ชี้ ปชช.เดือดร้อนจากการบริหารจัดการขยะของเทศบาลฯ

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ จ.นครศรีธรรมราช ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เทศบาลนครเกาะสมุย โดยนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอย รวมทั้งมูลฝอยติดเชื้อ ในบ่อขยะ ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานที่กฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ และให้ขจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ และบำบัดแหล่งน้ำสาธารณะบริเวณที่พิพาทให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และให้เทศบาลนครเกาะสมุย รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและศาลทราบทุก 30 วัน จนกว่าปัญหามลพิษดังกล่าวจะหมดสิ้นไป แต่ไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ตามที่ ว่าที่ ร.ต.สืบศักดิ์ พูลสวัสดิ์ กับพวกที่เป็นชาวบ้านใน ต.หน้าเมือง ต.มะเร็ต และ ต.ตลิ่งงาน อ.เกาะสมุย ได้ยื่นฟ้องเทศบาลนครเกาะสมุย นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อศาลปกครอง ว่าละเลยต่อหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินการกำจัดขยะแบบฝังกลบในเกาะสมุย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และเกิดสารปนเปื้อนในน้ำส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง

ศาลปกครองนครศรีธรรมราชให้เหตุผลว่า แม้จะรับฟังได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กำกับดูแลการปฏิบัติการของเทศบาลนครเกาะสมุย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นลำดับแล้วก็ตาม แต่เมื่อปัญหาที่เกิดจากบ่อกำจัดขยะของเทศบาลนครเกาะสมุยดังกล่าวยังคงมีอยู่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบริหารจัดการขยะของเทศบาลนครเกาะสมุย

...

การปฏิบัติหน้าที่ของเทศบาลนครเกาะสมุย นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย และผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นการทำละเมิดต่อชาวบ้านผู้ฟ้องคดี

และเมื่อคำนึงถึงความร้ายแรงของผลที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม และระยะเวลาตามปกติในการปฏิบัติราชการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ จึงสมควรกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน.