ผวจ.ภูเก็ต นำทีม ขรก.และเอกชน สร้างป่าชุมชนราไวย์บนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ โดยปลูกต้นกล้าทุเรียน 500 ต้น หว่านเมล็ด 5,000 เมล็ด ชี้ เป็นพืชช่วยสร้างคาร์บอนเครดิต และสร้างความมั่นคงทางอาหาร-สร้างรายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต พร้อมด้วยนายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ตเป็นประธานเปิดโครงการปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้เกิดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและระบบนิเวศ โดยมีนายนิกร ปภากิจยศพัฒน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ หัวหน้าส่วนราชการและชาวตำบลราไวย์ อ.เมืองภูเก็ตเข้าร่วม ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอย 15 ไร่ โดยครั้งนี้ได้ปลูกต้นทุเรียน 500 ต้นและปลูกด้วยเมล็ดทุเรียน 5,000 เมล็ดบนเนื้อที่ 5 ไร่ใน ต.ราไวย์ อ.เมือง

นายนิกร กล่าวว่า โครงการปลูกทุเรียนบนเกาะภูเก็ตสร้างเศรษฐกิจและความสมดุลของระบบนิเวศเป็นแนวคิดของ ผวจ.ภูเก็ตที่ให้ความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) ทำให้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นบ่อยๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของสินค้าเกษตร จึงมีความต้องการส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

...

"ทุเรียนเป็นพืชช่วยสร้างคาร์บอนเครดิต ลดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นพืชเศรษฐกิจและพืชอัตลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต ทำให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้นำไปสู่การพึ่งตนเองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต โดยจังหวัดภูเก็ตได้มีการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา รวมทั้งภาคประชาชนร่วมปลูกทุเรียนบนเกาะภูเก็ต เป้าหมายอย่างน้อย 100,000 ต้น โดยมีแผนการปลูกทุเรียนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2566 ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ วัดมงคลนิมิต พระอารามหลวง (วัดกลาง) ป่าชุมชน 4 แห่ง วิทยาลัยเทคนิคถลาง โรงเรียนบ้านป่าครองชีพและพื้นที่เกษตรกรต้นแบบ ในจังหวัดภูเก็ต" รองนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าว

ด้านนายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ตกล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชอัตลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตและเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้บริโภคทั้งชาวต่างชาติ คนท้องถิ่นชื่นชอบเป็นอย่างมาก โดยโครงการปลูกทุเรียนบนเกาะภูเก็ต ทำให้เกิดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและระบบนิเวศและสอดคล้องกับศาสตร์พระราชา ในการเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เป็นการยกระดับพืชในท้องถิ่นให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ.