เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม หรือ "ปลาตายน้ำแดง" เกลื่อนหาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร ชาวบ้านนับร้อยแห่เก็บกิน-ขาย ทำปุ๋ยหมักใช้ในการเกษตร ประมงอำเภอเผย สาเหตุเกิดจากน้ำทะเลเปลี่ยน มีแพลงก์ตอนจำนวนมาก เข้าไปขัดขวางการหายใจของสัตว์น้ำ เตือนชาวบ้านอย่าเพิ่งนำไปรับประทาน เพราะไม่รู้ว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดมีพิษหรือไม่
วันที่ 22 มิ.ย. 66 นายวัชรินทร์ สุวพิศ ปลัด อบต.สะพลี นายบุญญวัฒน์ ทองหอม ประมงอำเภอปะทิว เจ้าหน้าที่ ศรชล.ชุมพร ได้ลงตรวจสอบที่บริเวณริมหาดทุ่งวัวแล่น หมู่ 8 ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่ออันดับหนึ่งของจังหวัด ได้มีชาวบ้านนับร้อยคน นำภาชนะลงไปเก็บปลาที่ลอยมาตายอยู่บนชายหาดจำนวนมาก นับหมื่นกิโลกรัม ตลอดชายหาดร่วม 10 กิโลเมตร มองดูขาวโพลนไปด้วยปลาหลากหลายชนิด ทั้งปลาตัวเล็ก ปลาตัวใหญ่ ปูม้า รวมทั้งกุ้งแชบ๊วย หรือกุ้งทะเล
โดยชาวบ้านบางคนบอกว่ามาเก็บไปกินและแล่เนื้อขาย เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุกปี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาตายน้ำแดง และมาเก็บไปกินไปขายทุกครั้ง ถือว่าเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
...
นางวันเพ็ญ ปรีชามาตร์ อายุ 60 ปี เดินทางมากับครอบครัวจากพื้นที่หมู่ 4 ต.ถ้ำสิงห์ อ.เมือง จ.ชุมพร บอกว่าตนรู้ข่าวตั้งแต่เมื่อคืนว่ามีปลาตายน้ำแดง ซึ่งปลาจะตายในช่วงนี้ทุกปี ตนไม่เก็บไปกิน แต่เก็บเอาปลาทั้งหมดไปทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้ในการเกษตรในสวนทุเรียนและพืชผักอื่นๆ โดยผสมตามสูตร ใช้รดพืชผัก ต้นไม้ได้ดีมาก และยังเก็บไว้ได้นานอีกด้วย
ด้าน นายบุญญวัฒน์ ทองหอม ประมงอำเภอปะทิว กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากชาวประมงว่า เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าปลาตายน้ำแดง หรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี ทำให้เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ออกซิเจนในน้ำมีน้อย อีกทั้งเมื่อเกิดแพลงก์ตอนมากๆ มีความหนาแน่น จะเข้าไปขัดขวางการหายใจของปลาที่บริเวณเหงือกด้วย ทำให้ปลาขาดออกซิเจนแล้วพยายามดิ้นเข้าชายฝั่งและก็ตาย
อย่างไรก็ตาม ขอประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านที่มาเก็บปลาอย่าเพิ่งนำไปบริโภค เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นแพลงก์ตอนบลูมชนิดใด จะเป็นอันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งได้ประสานให้ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่ง ได้มาเก็บน้ำและปลาตัวอย่างไปตรวจสอบแล้ว ต้องรอผลตรวจว่าเป็นแพลงก์ตอนชนิดไหน เพราะบางชนิดกินได้ บางชนิดกินไม่ได้ แต่ถ้านำไปทำปุ๋ยหมักไม่มีปัญหา.